เวลาสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย นอกจากการรักษาที่ดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือการดูแลหลังการรักษาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องการทำกายภาพบำบัดที่มีความสำคัญค่อนข้างมากและมีความเกี่ยวข้องกับการรักษาในหลาย ๆ ด้าน หลายคนมองว่ารักษาไปแล้วเดี๋ยวอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ จะไปกลัวอะไร แต่บอกเลยว่าจริง ๆ แล้วการที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขก็คือการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังจากเจ็บป่วยนี่แหละค่ะ
สัตว์เลี้ยงประเภทไหนบ้างที่ต้องทำกายภาพบำบัด
- สัตว์ที่มีการบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายของกระดูกและข้อต่อ
- สัตว์ที่มีการเสียหายของเส้นประสาท
- สัตว์ที่มีภาวะอัมพาต
- สัตว์ที่ต้องควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนัก
วิธีการทำกายภาพบำบัดสุนัขมี 2 วิธีการ
1.การทำกายภาพบำบัดแบบใช้อุปกรณ์และต้องทำที่โรงพยาบาลสัตว์เท่านั้น
- การใช้กระดานเพื่อการทรงตัวหรือให้ยืนบนลูกบอล
เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้สุนัขกลับมาใช้ขาได้รวดเร็วมากขึ้น
- การใช้คลื่นแสงและคลื่นเสียง
เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ลดความเจ็บปวด และช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อให้เป็นปกติรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การกระตุ้นไฟฟ้า
เพื่อช่วยรักษาและเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อขา
- การใช้ลู่วิ่งสายพานใต้น้ำ
วิธีการดังกล่าวมีความละเอียดและซับซ้อน จึงควรทำโดยสัตวแพทย์ที่ดูแลสุนัขที่กายภาพอยู่
2.การทำกายภาพบำบัดแบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ สามารถทำได้ที่บ้าน
- การนวด
เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวด
- การประคบอุ่นและการประคบเย็น
เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและลดความเจ็บปวด
- การยืด-หดขาในท่านอน
เพื่อช่วยลดปวด เพิ่มการหมุนเวียนของเลือดและน้ำในข้อต่อ
- การจูงเดิน วิ่ง หรือเดินขึ้นลงบันได
เพื่อเพิ่มการลงน้ำหนักของขา
- การเดิมข้ามสิ่งกีดขวางแบบง่าย ๆ
เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้ที่บ้าน แต่เจ้าของจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ที่ดูแล เนื่องจากวิธีการต่าง ๆ นั้นมีความเหมาะสมในการใช้ที่แตกต่างกัน
ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง
น.สพ.ฐิติกร เอกสิริไตรรัตน์ (หมอซัน) สัตวแพทย์แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้ความรู้ไว้ว่า “การกายภาพบำบัดถือเป็นการช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเป็นวิธีการที่ค่อนข้างจำเป็นมาก ๆ ในการรักษาสัตว์ที่ป่วย อย่างเรื่องของการลดความเจ็บปวด ช่วยเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน ช่วยเรื่องรักษามวลกล้ามเนื้อ แต่ผลลัพธ์ของการรักษาจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา”
การทำกายภาพบำบัดส่วนใหญ่มักจะใช้ระยะเวลาการรักษาที่ค่อนข้างนาน และจะเห็นผลได้ดีก็ต้องอาศัยความร่วมมือของเจ้าของสุนัขในการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้าน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสัตว์นะคะ ครอบครัวไหนที่ลูกรักสี่ขาของเราต้องทำกายภาพบำบัดต้องอดทนและมีความตั้งใจ ท่องไว้ว่าเพื่อสุขภาพน้องในระยะยาว ดีกว่าพาน้องมารักษาบ่อย ๆ นะ
แหล่งอ้างอิง
น.สพ.ฐิติกร เอกสิริไตรรัตน์ (หมอซัน) สัตวแพทย์แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน