7 วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต Marketing Talingchanpet 2022-10-17 ข้อมูลสุขภาพสัตว์เลี้ยง Views : 7,535 สัตว์เลี้ยงหลายตัวพออายุมากขึ้น เวลาได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการป่วยทางระบบประสาทจนทำให้ขาเดินไม่ได้ อ่อนแรง ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างก็ทำให้เกิดข้อจำกัดในการรักษาหรือการผ่าตัด ทำให้เจ้าของหลายคนเลือกที่จะรักษาแบบประคับประคองอาการไปก่อน ทำให้น้องหมาน้องแมวที่ป่วยด้วยอาการเหล่านี้เปรียบเสมือนผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถลุกเดินไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนมาไหนได้ ทำให้การดูแลสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ต้องเอาใจใส่และได้รับการดูแลพิเศษต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป หากสัตว์เลี้ยงของเราป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตเราจะดูแลเขาอย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลองมาฟังคำแนะนำจากสัตวแพทย์กัน เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต คำแนะนำของสัตวแพทย์คือสัตว์ที่ป่วยด้วยอาการเหล่านี้มักจะไม่เสียชีวิตจากการที่เดินหรือเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่จะอาการแย่ลงจากปัจจัยเหล่านี้ แผลกดทับ เกิดจากการไม่เคลื่อนที่หรือนอนทับด้านใดด้านหนึ่งนาน ๆ การไม่เคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้กล้ามเนื้อและไขมันลดลงและกระดูกยิ่งเด่นชัดขึ้น เกิดเป็นแผลและการติดเชื้อตามมา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยปกติในกระเพาะปัสสาวะทั่วไปจะไม่มีการติดเชื้อ แต่การที่ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะ ไม่สามารถลุกไปปัสสาวะ หรือการปัสสาวะไม่สุดจนเกิดการคงค้างของปัสสาวะ ก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อย้อนจากทางออกของอวัยวะเพศกลับเข้าไปปอดอักเสบ การนอนทับด้านใดด้านหนึ่งนาน ๆ จะเกิดการสะสมของเสมหะในทางเดินหายใจและปอด เมื่อเกิดการขัดขวางของการขยายตัวของปอดด้านใดด้านหนึ่งนาน ๆ ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ 7 วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต 1.กักบริเวณในที่สะอาดกักบริเวณในพื้นที่จำกัดและสะอาด เช่น ในกรงหรือพื้นที่ขนาดเล็ก รวมทั้งงดการกระโดดวิ่งเล่นและขึ้นลงบันไดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ในช่วงแรก เพื่อลดการกระทบกระเทือนต่อระบบประสาทที่สามารถเกิดขึ้นได้ 2.ให้สัตว์นั่ง/นอนในที่นุ่ม กรณีที่สัตว์มีอาการอัมพาต เจ้าของควรให้นั่งหรือนอนบนที่นุ่มและสะอาด เช่น เตียงลม เตียงน้ำ ฟองน้ำหนา ๆ ไม่ควรให้สัตว์อยู่บนพื้นหิน พื้นกระเบื้อง หรือดินทราย 3.พลิกตัวสัตว์ทุก 3-4 ชั่วโมงกรณีที่สัตว์นอนอัมพาตทั้งตัว อัมพาตครึ่งซีก หรือนอนหมดสติไม่รู้ตัว เจ้าของจะต้องพลิกตัวสัตว์ทุก 3-4 ชั่วโมง พร้อมกับทำการตบช่องอกให้สัตว์ขับเสมหะเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและปอดบวม 4.ถ้าเกิดแผลกดทับ ต้องทำความสะอาดแผลทุกวันในกรณีที่เกิดแผลกดทับสัตว์เลี้ยงควรจะต้องได้รับการทำความสะอาดแผลทุกวัน และต้องใช้วัสดุลดแผลกดทับป้องกันบริเวณปากแผล เช่น ก๊อซม้วนเป็นวงหนาโดนัท ห่วงยาง แผ่นฟองน้ำ ฯลฯ 5.ออกกำลังกาย ให้สัตว์เลี้ยงออกกำลังกายขาข้างที่ผิดปกติ โดยเจ้าของสามารถทำได้ทำดังนี้บีบนวดขาบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดจัดขาแต่ละข้าง ยืด-งอ เข้า-ออก ข้างละ 30-100 ครั้ง วันละ 3 รอบเกาหรือกระตุ้นฝ่าเท้าเพื่อฝึกการงอขาแต่ละข้าง ข้างละ 5-10 ครั้ง วันละ 3 รอบจับขาทำท่าปั่นจักยาน ข้างละ 5 ครั้ง วันละ 3 รอบ 6.การดูแลการถ่ายปัสสาวะ เช็ดทำความสะอาดผิวหนังเปื้อนปัสสาวะบ่อย ๆทาวาสลีนบนผิวหนังที่ผิวหนังที่สัมผัสหรือเปื้อนปัสสาวะเสมอบีบกระเพาะปัสสาวะ เพื่อช่วยระบายปัสสาวะบ่อย ๆ ทุก 2-6 ชั่วโมง การสวนปัสสาวะอาจทำได้แต่ควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ส่วนการดูแลเรื่องการถ่ายอุจจาระนั้น หลังสัตว์เลี้ยงขับถ่ายอุจจาระเจ้าของควรทำความสะอาดส่วนท้ายของลำตัวเสมอ อาจเล็มขนรอบทวารและโคนหางให้บ้าง 7.มาพบสัตวแพทย์เป็นประจำเจ้าของควรเข้ามาติดตามอาการกับสัตวแพทย์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง การที่สัตว์เลี้ยงป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต สิ่งสำคัญคือเราต้องใส่ใจและดูแลเขาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม การปรึกษาสัตวแพทย์ คอยดูแลเรื่องความสะอาดและหมั่นทำกายภาพบำบัดก็จะช่วยให้น้อง ๆ มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ข้อมูลจากน.สพ.นรวร นาคทิพวรรณ (หมอเกล้า) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน Related Tagged dog, กระต่าย, กระเพาะ, กายภาพ, กายภาพบำบัด, การติดเชื้อ, ทำความสะอาด, นก, ป่วย, ป้องกัน, ปอด, ผ่าตัด, ผิวหนัง, ยา, ระบบประสาท, สัตวแพทย์, สัตว์, สัตว์เลี้ยง, สุขภาพ, สุนัข, หมา, หายใจ, ออกกำลังกาย, อักเสบ, อาการป่วย, อาหาร, เกา, เลี้ยงกระต่าย, แมว, โรคในสุนัข, ได้รับอุบัติเหตุ แนะแนวเรื่อง Previous Previous post: โรคเบาหวานในสุนัขและแมว รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมได้Next Next post: รู้จักโรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye) โรคต่อมหนังตาที่สามโผล่ยื่นในสุนัข