Menu Close

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักในสัตว์เลี้ยง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักในสัตว์เลี้ยง

ปัจจุบันพบสุนัขหรือแมวที่มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐานมากขึ้น แต่เจ้าของสัตว์อาจไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง โดยน้ำหนักตัวสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่ามาตรฐานสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลกระทบในแง่ลบต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง รวมถึงอายุขัยที่ลดลงเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักตัวมาตรฐาน

โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในสุนัขและแมวเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. อาหารและรูปแบบการให้อาหาร

อาหารสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแบ่งได้หลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกสบายในการให้อาหาร ไม่ว่าจะเป็น อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งแข็ง อาหารแห้ง และอาหารทำเอง โดยรูปแบบที่นิยมคืออาหารแห้ง

ซึ่งเป็นอาหารที่มีความชื้นน้อย สามารถเก็บรักษาได้นาน เพิ่มความสะดวกให้แก่เจ้าของสัตว์ และมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แต่อาหารแบบนี้มักข้อเสียคือมักจะมีน้ำตาลและแป้งเป็นส่วนประกอบเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน โดยพบว่าอาหารแห้งนั้นให้พลังงาน 2,800-4,050 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม จัดว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงเมื่อเทียบกับอาหารกระป๋องและอาหารกึ่งแข็ง นอกจากนั้นการให้ขนมคบเคี้ยว ขนมหวานที่มีแป้งและน้ำตาลสูงแก่สัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานได้ การให้อาหารแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ ad libitum, time- controlled feeding และ portion-

controlled feeding โดยรูปแบบที่โน้มนำให้เกิดภาวะอ้วนมากที่สุดคือ การให้อาหารแบบไม่จำกัด (ad libitum) คือการที่มีอาหารให้สัตว์เลี้ยงกินได้ตลอดเวลาแบบไม่จำกัด ซึ่งมักคู่กับการให้อาหารแห้ง เนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียยาก สามารถให้อาหารทิ้งไว้ได้นานในปริมาณมาก ๆ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้สัตว์มีน้ำหนักเกิน เนื่องจากสัตว์ได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย

2. อายุ เพศ พันธุ์

ปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐานมักเกิดกับสัตว์ที่มีอายุมากขึ้น

โดยอายุที่มักพบปัญหาดังกล่าวคือช่วง 6-8 ปี หลังจากนั้นน้ำหนักมักคงที่และค่อยๆ ลดลงอีกครั้งเมื่ออายุ 12 ปี ขึ้นไป สัตว์เพศเมียมักเกิดภาวะอ้วนมากกว่าเพศผู้และหากสัตว์ได้รับการทำหมันแล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนสูงขึ้น 2 เท่าเทียบกันสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการทำหมัน นอกจากนี้สายพันธุ์และพันธุกรรมของสัตว์ ยังมีผลต่อการเกิดภาวะอ้วนอีกด้วย โดยพบว่าพันธุกรรมอาจมีผลถึงร้อยละ 30-70 เนื่องจากขบวนการเผาผลาญพลังงานที่แตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละตัว สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะอ้วน ได้แก่ Beagles, Labrador retrievers, Cocker spaniels, Dachshunds และ Pug เป็นต้น
ส่วนแมวพบว่าสายพันธุ์ผสมมักมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนมากกว่าสายพันธุ์แท้
 

 3. พฤติกรรมและที่อยู่อาศัย

พื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสัตว์อย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จำกัดมากขึ้น เช่น คอนโด หอพัก หรือเลี้ยงสัตว์ในระบบปิด

ส่งผลให้สัตว์มีการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายลดลง สัตว์จึงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากตอนอยู่ในธรรมชาติ เช่น กินอาหารมาก ล่าเหยื่อลดลง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน การควบคุมน้ำหนักในสัตว์เลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับสัตว์แต่ละตัว จะประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ การเลือกอาหารที่มีพลังงานแคลอรี่เหมาะสมกับตัวสัตว์ การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของให้สอดคล้องกัน โดยปัจจัยดังกล่าวต้องผ่านการวิเคราะห์และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีอัตราการลดน้ำหนักที่สม่ำเสมอ ปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องการภาวะขาดสารอาหาร

ข้อมูลจาก:

สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก)
แผนกอายุรกรรม, แผนกอัลตร้าซาวด์
สัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

แหล่งอ้างอิง:

 1. Dawn Brooks, Julie Churchill, Karyn Fein, Deborah Linder, Kathryn E. Michel, Ken Tudor, Ernie Ward,

Angela Witzel. 2014 AAHA Weight Management Guildelines for Dogs and Cats. (J Am Anim Hosp Assoc 2014; 50:1–11. DOI 10.5326/JAAHA-MS-6331)

2. พัชนี ศรีงาม. อาหารและการให้อาหารสุนัข. การจัดการดูแลสุนัข. (พิมพ์ครั้งที่ 2). 2548;76-104

3. อารีรัตน์ อากาศวิภาต. ภาวะอ้วนกับสุนัขและแมว. เชียงใหม่สัตวแพทยสาร.2548;3:65-70