Menu Close

ทำหมันในสุนัขดีอย่างไร

“ทำหมันมันบาปนะ” “อย่าไปห้ามเขามีลูก” ความคิดเหล่านี้จากคนทั่วไปทำเอาเจ้าของสุนัขหลายท่านมักกังวลเวลาคิดว่าจะให้สุนัขของตัวเองทำหมันดีไหม เพราะกลัวผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และมองว่าการทำหมันอาจเป็นการทารุณกรรมสัตว์ แต่ความจริงแล้วการทำหมันกลับส่งผลดีต่อตัวสุนัขมากกว่าที่หลายคนคิดด้วยซ้ำ เพราะอะไรเราถึงบอกว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหมันสุนัขที่ถูกต้องกันค่ะ

การทำหมันให้สุนัขไม่ใช่แค่เป็นการควบคุมจำนวนเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุนัข เช่น ลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ในช่วงที่สุนัขเป็นสัด แต่เหตุผลส่วนใหญ่ที่เจ้าของสุนัขมักไม่ยอมพาน้องหมามาทำหมันเพราะมองว่าเป็นการทำบาปที่ทำให้สุนัขมีลูกไม่ได้ ไม่อยากจะทำร้ายสัตว์ หรือมองว่าการสืบพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ควรให้เขาได้มีลูก ทั้งนี้ สพ.ญ.กนกพรรณ โชติกวณิชย์ ประจำแผนกอายุรกรรมและแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้ความรู้เรื่องการทำหมันในสุนัขว่า

“การทำหมันมีข้อดี คือ ลดการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ ในกรณีที่รุนแรงก็จะเป็นมะเร็งได้ ลดภาวะการเกิดมดลูก ลดอัตราการเกิดเนื้องอกเต้านม และหากทำหมันก่อนเป็นสัดครั้งแรกสามารถลดการเกิดเนื้องอกที่เต้านมได้ถึง 95 % อีกทั้งยังช่วยลดภาวะต่อมลูกหมากโตในตัวผู้ ลดพฤติกรรมก้าวร้าว ลดพฤติกรรมการหนีเที่ยว และการยกขาฉี่เรี่ยราดในสุนัขตัวผู้ และการทำหมันยังเป็นการคุมกำเนิดถาวร ช่วยลดอัตตราการเกิดสุนัขจรจัดอีกวิธีหนึ่งด้วยเช่นกัน”

การทำหมันจึงเป็นผลดีต่อสุขภาพของสุนัข สามารถช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และยังเป็นการช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวของน้องหมา รับรองว่าบ้านสงบสุขแน่นอน เพราะเจ้าตัวแสบจะซนและก้าวร้าวน้อยลง นอกจากนี้การทำหมันยังถือเป็นการช่วยสังคมให้ลดอัตราการเกิดสุนัขจรจัดได้อีกด้วย

อายุสุนัขที่เหมาะสมกับการทำหมัน

ปัจจุบันมีการศึกษาและค้นคว้ารับรองว่าเราสามารถทำหมันสุนัขตั้งแต่วัยเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไปได้ 

ทั้งนี้ การทำหมันสุนัขทั้งเพศผู้และเพศเมียในวัยเด็กมีข้อยืนยันทางวิชาการว่าปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงที่อันตราย และหากทำหมันตั้งแต่อายุน้อยจะพบผลข้างเคียงได้น้อยกว่าเมื่อนำสุนัขไปทำหมันตอนโตหรือมีอายุ

(** บทความ ทำหมันหมาเด็ก โดย ปานเทพ รัตนากร จาก นสพ คม ชัด ลึก วันที่ 22 ก.พ. 2558)

การเลือกโรงพยาบาลหรือคลินิกที่จะทำหมันสุนัข

การทำหมันสุนัข เจ้าของหรือผู้ดูแลสุนัขควรตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจัยที่เจ้าของสุนัขควรคำนึงถึงเมื่อจะพาสุนัขไปทำหมัน คือ ความชำนาญของสัตวแพทย์ ห้องผ่าตัดที่ปลอดเชื้อ เครื่องมือผ่าตัด และต้องทำการตรวจเลือดก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำร้ายชีวิตสุนัขของเราได้

การทำหมันในสุนัขทำอย่างไร

ในสุนัขเพศเมีย การทำหมันคือการตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องเปิดช่องท้อง ส่วนในสุนัขตัวผู้ การทำหมันคือการตัดอัณฑะและท่อนำอสุจิออกทั้งสองข้าง ดังนั้นสุนัขที่ทำหมันจึงต้องเป็นสุนัขที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโลหิตจาง เพราะจำเป็นต้องวางยาสลบก่อนการผ่าตัด และต้องตรวจเลือดเช็คสุขภาพว่าร่างกายน้องหมาพร้อมที่จะวางยาสลบได้อย่างปลอดภัยไหม 

ก่อนนำน้องหมามาทำหมัน 1 วัน ควรงดน้ำและอาหาร  8-12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และหลังจากการผ่าตัดทำหมันต้องมีการทำแผลหลังผ่าตัด ควรไปทำแผลตามที่สัตวแพทย์นัด ดูแลแผลไม่ให้เปียกน้ำ ไม่ให้ติดเชื้อ ห้ามสุนัขเลียแผล ห้ามแผลสกปรก อาจใช้วิธีใส่ Colla กันเลียได้ และหากแผลปกติดีก็สามารถตัดไหมได้ภายใน 7-10 วันหลังการผ่าตัด

ผลข้างเคียงของการทำหมันสุนัข

การทำหมันสุนัขจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่อาจลดลง อาจมีส่วนทำให้สุนัขอ้วนขึ้นเพราะขบวนการเผาผลาญในร่างกายต่ำ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเขาก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้สุนัขที่ทำหมันมีโอกาสน้ำหนักขึ้นหรืออ้วนขึ้น แต่ปัญหาความอ้วนในน้องหมาสามารถแก้ได้โดยที่เจ้าของต้องควบคุมน้ำหนักเขา เลือกอาหารที่เหมาะสมให้น้องกิน และพยายามให้สุนัขได้ออกกำลังกาย  

ผลข้างเคียงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน (Urinary Incontinent ) ที่มักพบในสุนัขเพศเมีย เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้ท่อปัสสาวะและปัสสาวะทำงานผิดปกติ แต่ภาวะนี้พบน้อยมากและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา

การทำหมันสุนัขเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อน้องหมาหรือกลัวว่าเป็นการทำบาป เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของสุนัขเองแล้ว การทำหมันยังช่วยลดปัญหาที่เกิดจากอารมณ์ก้าวร้าวเวลาสุนัขติดสัด และยังช่วยลดปัญหาหมาจรจัดที่มักเกิดจากเจ้าของเลี้ยงไม่ไหวแล้วเอาไปปล่อยตามวัดหรือตามสถานเลี้ยงสุนัข ดังนั้นการทำหมันสุนัขจึงถือเป็นสิ่งที่ดีและไม่อันตรายต่อน้องหมาแน่นอน 

—————————————————————————–

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.กนกพรรณ โชติกวณิชย์ สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรมและแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน