Menu Close

วิธีป้อนยาน้องแมวง่าย ๆ ทำเองได้ที่บ้าน

เวลาที่แมวป่วยนอกจากต้องกังวลกับอาการของน้องแล้ว ปัญหาหนักใจที่จัดการยากยิ่งกว่าอะไรคงหนีไม่พ้นการให้น้องแมวกินยาที่คุณหมอให้มา ไม่ว่าจะยาเม็ดหรือยาน้ำป้อนเท่าไหร่น้องก็ไม่ยอมกิน บางคนป้อนยาไม่ได้เพราะไม่เคยทำมาก่อน บางคนอาจเป็นเพราะน้องแมวดื้อไม่ให้ความร่วมมือในการป้อนยาจนโดนกรงเล็บพิฆาตจากอุ้งเท้าของน้องไปเต็ม ๆ วันนี้เราเลยมีเทคนิคการป้อนยาให้น้องแมวมาฝากทุกคนกัน เป็นวิธีที่ทำได้เองที่บ้านและง่ายกว่าที่หลายคนคิดแน่นอน!

ก่อนป้อนยาทุกครั้งเจ้าของต้องทำความเข้าใจก่อนว่าน้องแมวแต่ละตัวเขาจะมีนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องหาวิธีป้อนยาที่เหมาะสมกับแมวแต่ละตัวก่อน แมวบางตัวที่ก้าวร้าวอาจจะต้องหาคนมาช่วยจับให้น้องอยู่เฉย ๆ ส่วนใครที่น้องแมวที่บ้านคุ้นเคยกับเจ้าของไม่ดื้อไม่ซนก็ถือว่าโชคดีมาก เพราะน้องจะกินยาง่ายกว่าแมวที่ค่อนข้างดื้อ พอรู้นิสัยน้อง ๆ แล้วก็เริ่มทำการป้อนยาได้เลย 

การป้อนยาเม็ด

1.เปิดปากและป้อนยาลงไปในปากแมวโดยตรง

วิธีนี้เป็นวิธีการป้อนยาเม็ดที่ดีที่สุด (แต่อาจจะทำไม่ได้กับน้องแมวทุกตัว) โดยเราจะใช้มือข้างที่เราไม่ถนัดจับปากด้านบนตรงร่องหลังฟันเขี้ยวทั้งสองข้าง แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ของมืออีกข้างที่ถนัดจับเม็ดยาไว้ จากนั้นใช้นิ้วกลางดันกรามล่างให้อ้าออก แล้วรีบหย่อนเม็ดยาให้ลงตรงโคนลิ้นและปิดปากแมวทันที หลังป้อนเสร็จควรเอามือลูบคางและคอของแมว (อาจจะใช้วิธีลูบจมูกหรือเป่าลมใส่จมูกก็ได้) เพื่อกระตุ้นให้แมวกลืนยาลงคอ เมื่อแมวกลืนแล้วจึงค่อยคลายมือที่ปิดปากแมวออก 

ในกรณีที่แมวค่อนข้างดิ้น ชอบใช้เท้ามาตะกุยแขนเจ้าของแต่ยังพอจับอ้าปากป้อนยาได้ ให้อีกคนมาช่วยจับขาและตัวแมวไว้ ถ้าไม่มีผู้ช่วยจับหรือช่วยกันจับแล้วแต่แมวยังเอาเท้ามาข่วนได้ ให้เจ้าของเอาผ้าขนหนูผืนใหญ่และหนาพอสมควร มาห่อรอบตัวแมวให้มิดจนถึงคอจนโผล่ออกมาแต่หัว วิธีนี้จะช่วยให้แมวสงบ ดิ้นน้อยลง และยังช่วยลดอันตรายหรือแผลข่วนจากน้องแมวได้ด้วย

ข้อควรระวัง ถ้าเจ้าของหย่อนเม็ดยาไม่ลงตรงโคนลิ้น แต่ไปเข้ากระพุ้งแก้มหรืออยู่ที่ปลายลิ้น แมวก็จะคายหรือถุยยาออกมาได้ และบางตัวอาจมีอาการน้ำลายไหล เคี้ยวปากจนน้ำลายเป็นฟองได้เพราะไม่ชอบรสชาติของยา

2.บดยาเม็ดให้ละเอียด ผสมกับอาหารเสริม แล้วป้ายตรงริมฝีปากบนของแมวหรือเหงือกทีละน้อย

วิธีนี้ให้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเปิดปากเพื่อป้อนยาน้องแมวได้โดยตรง เจ้าของอาจใช้วิธีบดยาเม็ดให้ละเอียด และนำไปผสมกับอาหารเสริมสัตว์ป่วยแบบเจลให้เข้ากัน แล้วป้ายตรงริมฝีปากบนของแมวหรือที่เหงือกทีละน้อยไปเรื่อย ๆ จนได้ปริมาณยาครบตามที่กำหนด ที่ต้องใช้อาหารเสริมเพราะอาหารเสริมแบบเจลจะช่วยกลบรสชาติเฝื่อน ๆ ของยา ช่วยให้ป้อนยาได้ง่ายโดยที่ไม่จำเป็นต้องอ้าปากแมว และยังช่วยเสริมพลังงานและวิตามินในกรณีที่แมวป่วยทานอาหารได้น้อยอีกด้วย

ในกรณีที่เจ้าของไม่มีอาหารเจล อาจใช้น้ำผึ้งหรือน้ำซอสเกรวี่ข้น ๆ (ที่ใช้ราดแต่งกลิ่นอาหารเม็ดเพื่อให้อาหารน่ากินมากขึ้น) มาใช้แทนก็ได้ แต่พวกนี้จะเหลวกว่าการใช้อาหารเจลอยู่นิดหน่อย

3.ยัดยาปนลงไปในเม็ดอาหาร 

ทำได้ในกรณีที่น้องแมวค่อนข้างตะกละ กินอาหารทีเดียวหมดชาม เม็ดยามีขนาดเล็กและไม่มีกลิ่นยาชัดเจนนัก ซึ่งในปัจจุบันก็มียาบางชนิดที่มีการแต่งกลิ่นเนื้อสัตว์ลงไปในยาเพื่อช่วยกลบรสชาติเฝื่อน ๆ ของยา ทำให้สัตว์ยอมกินยาได้ง่ายขึ้น แต่น้องแมวบางตัวมีนิสัยช่างเลือก กินอาหารยาก การใช้วิธียัดยาลงในอาหารคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเพราะเราจะไม่สามารถแน่ใจว่าน้องแมวกินยาไปแล้วหรือยัง หรือน้องแมวบางตัวอาจจะได้กลิ่นยาและพาลไม่กินอาหารชามนั้นไปเลยก็มี

การป้อนยาน้ำ

การป้อนยาน้ำจะไม่แตกต่างจากการป้อนยาเม็ดมากนัก เพียงแต่ต้องใช้อุปกรณ์ในการป้อน อุปกรณ์ที่ควรมีก็คือ “กระบอกฉีดยาหรือไซริงค์ (แบบไม่มีหัวเข็มฉีดยา)” และปฏิบัติตามวิธี ดังนี้ 

วิธีการป้อนยาน้ำ 

1.ดูดยาใส่หลอดไซริงค์ตามปริมาณที่กำหนด 

2.ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับริมฝีปากด้านบนของแมวข้างใดข้างหนึ่งขึ้น 

3.แหย่ปลายไซริงค์ไปในปากบริเวณร่องฟันหลังฟันเขี้ยว แล้วค่อย ๆ ดันยาเข้าไปในปากแมวช้า ๆ จนหมดยาที่เราดูดมา

ยาบางอย่างอาจมีรสชาติเฝื่อนที่แมวไม่ค่อยชอบ ไม่ว่าเจ้าของจะป้อนยังไง แมวอาจจะมีอาการพ่นน้ำลาย หรือเคี้ยวปากจนน้ำลายแตกฟองเต็มปากได้ ดังนั้นเมื่อเจ้าของได้รับยาน้ำมาป้อนแมวจากสัตวแพทย์อาจจะถามคุณหมอไว้ด้วยก็ได้ว่ายาตัวนี้ขมหรือไม่ หรือว่าป้อนแล้วจะมีน้ำลายยืดไหม ถ้าเจออาการเหล่านี้จะได้ไม่ตกใจ หรืออาจจะขอคุณหมอให้หันมาจ่ายยาในรูปแบบยาเม็ดแทนก็ได้ค่ะ

อย่างที่บอกว่าแมวแต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกัน ดังนั้นอย่าลืมเลือกวิธีป้อนยาให้เหมาะสมกับน้องแมวแต่ละตัวกันนะคะ น้องได้กินยาจะได้หายป่วยไว ๆ ด้วย แต่หากลองทุกวิธีที่เราแนะนำแล้วแต่ทำอย่างไรน้องแมวก็ยังไม่ยอมกินยาอาจพามาปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาวิธีในการรักษาแบบอื่นได้ค่ะ

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอนุ่น) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน