Menu Close

ฝังเข็มสัตว์เลี้ยง อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาสัตว์

รักษาอาการป่วยสัตว์เลี้ยงด้วยการฝังเข็ม ใครได้ยินก็คงคิดว่าน่ากลัว จะให้ลูก ๆ ที่บ้านมาโดนเข็มแหลม ๆ ทิ่มคงไม่มีใครชอบ แต่ขอบอกเลยว่าการฝังเข็มนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลยนะคะ การฝังเข็มเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก ในปัจจุบันการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ลองมาเปิดใจเรียนรู้เกี่ยวกับการฝังเข็มเพื่อรักษาสัตว์เลี้ยงกันค่ะ

การฝังเข็มในสัตว์เลี้ยงเป็นศาสตร์การรักษาทางแพทย์แผนจีนที่มีมายาวนานถึงสองพันปีมาแล้ว โดยมีหลักการคือการปรับสมดุลระหว่าง หยิน (Yin) และ หยาง (Yang) ของร่างกาย ซึ่งวิธีการคือนำเข็มขนาดเล็กและบางมาก ๆ ไปฝังตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจุดที่ใช้ในการฝังเข็มรักษาสัตว์เลี้ยงนั้นมีมากกว่า 150 จุด และแต่ละจุดจะมีปลายประสาทอิสระ (Free Nerve Ending) หลอดเลือดแดงเล็ก (Arterioles) รวมทั้งท่อน้ำเหลือง (Lymphatic Vessel) เมื่อทำการฝังเข็มจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาท เช่น เอ็นโดรฟิน (Endrophins) ช่วยระงับความเจ็บปวดและช่วยให้สัตว์ผ่อนคลาย เซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยควบคุมความอยากอาหาร การย่อยอาหารของสัตว์ และ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteriod) ที่ช่วยลดการอักเสบของร่างกาย นอกจากนี้การฝังเข็มยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ดี

การฝังเข็มเป็นการรักษาทางเลือกที่นิยมในสัตว์ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน แต่การฝังเข็มสามารถทำการรักษาร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันได้ในกรณีที่การใช้ยาทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือสัตว์ป่วยไม่สามารถกินยาได้ด้วย

ฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง

การฝังเข็มจะช่วยลดความเจ็บปวด รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อให้แก่สัตว์ได้ เช่น ข้อสะโพกเสื่อม ข้ออักเสบ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รวมถึงการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคต่อมไร้ท่อ โรคผิวหนัง แก้ปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือบกพร่อง และช่วยรักษาเรื่องพฤติกรรมที่ผิดปกติ อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ลมชัก เป็นต้น

ฝังเข็มแล้วสัตว์จะเจ็บไหม

เนื่องจากเข็มที่ใช้เป็นเข็มขนาดเล็กบางเท่าเส้นผม สัตว์เลี้ยงอาจจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยหรือไม่เจ็บเลย เนื่องจากไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อ โดยส่วนมากสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกผ่อนคลายหรือมักจะหลับไประหว่างทำการรักษา และแน่นอนว่าเข็มที่ใช้เป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียว 

การเตรียมตัวก่อนและหลังฝังเข็ม

ก่อนฝังเข็มสัตว์เลี้ยงไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ แต่สัตว์ควรได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน เช่น ตรวจโรคหัวใจ โรคมะเร็ง กระดูกสันหลัง กระดูก หรือสะโพก ว่ามีการแตกหรือไม่ เนื่องจากอาจจะไปกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้ โดยปกติสัตวแพทย์จะนัดมาทำการฝังเข็มในช่วงแรก สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ซึ่งสัตว์ที่ป่วยมักตอบสนองต่อการรักษาในครั้งที่ 3-4 ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองของแต่ละตัว หลังการฝังเข็มในแต่ละครั้งอาจพบอาการซึม นอนหลับยาวกว่าปกติ หรือมีไข้ ซึ่งก็มักจะกลับเป็นปกติได้เอง แต่เจ้าของสามารถช่วยเช็ดตัวเพื่อลดไข้ให้น้อง ๆ ได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อตรวจอาการ

การรักษาด้วยการฝังเข็มถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงได้ นอกจากช่วยลดความเจ็บปวดรวมถึงกระตุ้นระบบประสาทของสัตว์ให้ดีขึ้นแล้ว ยังถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อยมาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนคิดแน่นอนค่ะ

(ปัจจุบันทางโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันยังไม่เปิดให้บริการฝังเข็มดังกล่าว)

แหล่งอ้างอิง

ส.พญ.กนิษฐา ดาราวิโรจน์ (หมอน้ำหวาน)