เมื่อไหร่ก็ตามที่สุนัขที่บ้านตั้งท้อง เราเชื่อว่าต้องมีหลายคนแน่นอนที่ตื่นเต้นกับการที่ลูก ๆ ที่บ้านจะได้เป็นคุณแม่ลูกดก คอยเตรียมนู่นเตรียมนี่กันยกใหญ่เพื่อทำคลอดให้สุนัข แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดบ่อยมากแต่หลายคนอาจไม่ทันคิดคือแม่สุนัขอาจเกิด ภาวะคลอดยาก (Canine dystocia) หรือก็คือการที่แม่สุนัขไม่สามารถคลอดลูกออกมาตามธรรมชาติได้ หากไม่มีใครสังเกตหรือดูออกว่าสุนัขกำลังเกิดภาวะนี้ก็อาจทำให้การตั้งครรภ์นี้เกิดความเสี่ยงที่แม่สุนัขและลูกสุนัขจะเสียชีวิตทั้งคู่ เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะคลอดยากในสุนัขเพื่อรับมือหากน้องหมาตัวไหนกำลังเกิดภาวะนี้กันค่ะ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะคลอดยากในสุนัข เช่น
- ภาวะมดลูกเฉื่อย (uterine inertia) อาจจะมาจากตัวแม่มีอาการเจ็บป่วยหรือมีอายุมากแล้ว กระดูกเชิงกรานหัก เชิงกรานมีขนาดเล็กหรือตีบแคบ
- ท่าของลูกสุนัขไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการคลอด
- ลูกสุนัขมีขนาดศีรษะโตกว่าขนาดช่องเชิงกรานของแม่
- ลูกสุนัขมีความผิดปกติแต่กำเนิด
- ลูกสุนัขเสียชีวิตในท้อง
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าแม่สุนัขอยู่ในภาวะคลอดยาก
- แม่สุนัขมีอายุครรภ์มากกว่า 70-72 วัน โดยนับจากวันที่มีการผสมพันธุ์ครั้งแรก หรือมากกว่า 68-70 วัน นับจากวันที่มีการผสมครั้งสุดท้าย
- เมื่ออุณหภูมิในตัวแม่สุนัขลดลงต่ำกว่า 37.8°C (100°F) แล้วยังไม่มีการคลอดภายใน 24 ชั่วโมง
- ช่วงระยะเวลาระหว่างการคลอดลูกสุนัขแต่ละตัวห่างกันมากกว่า 2 ชั่วโมง
- มีอาการเบ่งอย่างหนักมามากกว่า 30 นาที แต่ลูกสุนัขไม่ออกมา
- พบของเหลวสีเขียวหรือสีแดงน้ำตาลไหลออกมา โดยที่แม่สุนัขไม่มีอาการเบ่งและไม่มีการคลอด หรือพบเลือดสดปริมาณมากไหลออกจากช่องคลอดในขณะสุนัขมีอาการเบ่ง
- พบการบีบตัวของมดลูกแบบอ่อนและไม่มีการคลอด หรือพบการบีบตัวของมดลูกแบบแรงและไม่มีการคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการกีดขวางในช่องคลอด
- แม่สุนัขมีไข้ อาเจียน หมดสติ หรือช็อคในขณะคลอด
*หากพบภาวะดังกล่าวอย่างน้อย 1 ข้อข้างต้น ควรพามาพบสัตวแพทย์ทันที
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากรึเปล่า
ปัจจัยที่ทำให้สุนัขเกิดภาวะคลอดยากนั้นมีได้หลายสาเหตุ ดังนั้นเจ้าของจึงควรพาสุนัขมาตรวจสุขภาพและตรวจครรภ์เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าแม่สุนัขจะสามารถคลอดลูกได้ตามธรรมชาติ ซึ่งการตรวจส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ คือ
- ให้สัตวแพทย์ประเมิน ควรรอจนอายุครรภ์ประมาณ 55 วันเป็นต้นไป เพื่อให้ขนาดลูกสุนัขโตอย่างเต็มที่ โดยสัตวแพทย์จะประเมินด้วยการวัดขนาดศีรษะของลูกเทียบกับเชิงกรานของแม่สุนัข หากพบว่ามีแนวโน้มคลอดยากหรือขนาดไม่สมส่วน สัตวแพทย์จะแนะนำให้นัดวันครบกำหนดคลอดเพื่อผ่าตัดช่วยลูกสุนัข
- ใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยวินิจฉัยว่าลูกสุนัขยังมีชีวิตหรือไม่ โดยดูการเต้นของหัวใจ ดูความแข็งแรงของลูกสุนัข สภาพมดลูกของแม่สุนัข รวมถึงคาดคะเนวันคลอด ซึ่งเครื่องเอ็กซเรย์จะช่วยบอกจำนวนลูกสุนัขได้แม่นยำกว่าการอัลตร้าซาวด์ แต่จะไม่สามารถบอกได้ว่าลูกสุนัขยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
การรักษาภาวะคลอดยากในสุนัข
สุนัขที่มีภาวะคลอดยาก สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการพามาโรงพยาบาลสัตว์เพื่อให้สัตวแพทย์ช่วยในการคลอด โดยสัตวแพทย์จะทำการให้ยาเพื่อไปช่วยเพิ่มการบีบตัวของมดลูก
การผ่าตัดคลอดควรตัดสินใจทำก็ต่อเมื่อแม่สุนัขไม่สามารถคลอดผ่านช่องเชิงกรานตามปกติได้ เช่น มีเชิงกรานแคบ ใช้เวลาคลอดนานเกินไป เกิดภาวะช็อค มีการกีดขวางของช่องคลอด หรือการใช้ยาไม่ได้ผล
ปัญหาการคลอดยากในสุนัขเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงสุนัขไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นหมายถึงหลายชีวิตที่อาจต้องสูญเสียไป เจ้าของควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาวิธีการคลอดที่ดีที่สุด หรือหากไม่มั่นใจสามารถพาแม่สุนัขมาฝากคลอดที่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อให้คุณหมอช่วยทำคลอดจะได้อุ่นใจก็ได้นะคะ
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอนุ่น) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน