Menu Close

คู่มือควรอ่าน! สุนัขตั้งท้องดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย

อยู่ดี ๆ น้องหมาที่บ้านก็ท้องใหญ่ขึ้น แถมพฤติกรรมหลายอย่างยังเปลี่ยนไป แบบนี้เจ้าตูบของเรากำลังตั้งท้องแน่เลย! ผู้ปกครองน้องหมามือใหม่หลายคนก็อาจจะยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลสุนัขตั้งท้อง ไม่มั่นใจว่าจะดูแลได้ถูกต้องหรือเปล่า เพื่อให้น้องหมาคลอดได้อย่างปลอดภัยเจ้าของอย่างเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เราจะมาบอกถึงวิธีการดูแลน้องหมาตั้งท้องอย่างถูกวิธีให้ทุกคนได้รู้กัน!

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าถ้าสุนัขท้องจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สพ.ญ.กุญชรี ประกาลัง (หมอกุ๊กไก่) สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรมและแผนกหน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้ความรู้ว่า หลังจากสุนัขผสมพันธุ์ติดและเริ่มมีการสร้างตัวอ่อน โดยทั่วไปสุนัขจะใช้เวลา 9 สัปดาห์ หรือประมาณ 60-65 วัน ในการอุ้มท้อง หลังจากเริ่มตั้งท้อง นับจากวันที่ตัวอ่อนฝังตัวลงในมดลูก ช่วงวันที่ 20-24 แม่สุนัขจะเริ่มสร้างสายสะดือ ดังนั้นในช่วงก่อนหน้านี้เราจึงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ แม้ว่าสุนัขจะเริ่มตั้งท้องแล้ว 

สุนัขเวลาตั้งท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

สุนัขที่ตั้งครรภ์ในช่วงแรกเราอาจจะยังเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ชัดเจนนัก แต่เมื่อช่วงอายุครรภ์เข้า 3-4 สัปดาห์ สุนัขจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ เช่น

1.กินอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น

สุนัขจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะมีความต้องการอาหารที่มากขึ้นกว่าปกติ 

2.เริ่มนอนเยอะขึ้น นิ่งขึ้น ไม่ค่อยวิ่งหรือกระโดด

สุนัขที่เคยมีนิสัยขี้เล่น ชอบวิ่งเล่น ช่วงตั้งท้องก็จะเริ่มนิ่งขึ้น มีการแยกตัวออกจากผู้คนหรือออกจากสุนัขตัวอื่น 

3.ท้องและเต้านมขยายใหญ่ขึ้น มีน้ำนมหยดจากหัวนม

เมื่อเริ่มตั้งท้อง บริเวณเต้านมของสุนัขจะเริ่มเต่งตึงและขยายใหญ่ขึ้น มีสีที่คล้ำขึ้น ฐานรอบหัวนมจะขยายกว้าง บางครั้งอาจจะมีน้ำนมซึมหรือหยดจากหัวนม 

4.ปัสสาวะบ่อย

เพราะเมื่อสุนัขท้องมดลูกของเขาจะขยายจนไปกดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการปัสสาวะบ่อย 

5.เริ่มขุดหลุมหรือโพรง

ช่วงใกล้คลอดสุนัขบางตัวจะขุดหลุมหรือโพรงเพื่อให้พร้อมกับการคลอด แต่เจ้าของสามารถเตรียมสถานที่ให้เขาคลอดได้เช่นกัน เช่น เตรียมกระบะที่รองผ้าเอาไว้เพื่อให้เขารู้สึกสงบและปลอดภัย 

หากใครพบว่าสุนัขของเรามีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมดังกล่าวแต่ยังไม่มั่นใจว่าน้องหมาของเรากำลังตั้งท้องก็สามารถพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ได้ นอกจากจะช่วยให้เรารู้จำนวนลูกสุนัขที่จะเกิดมาแล้ว ยังช่วยให้เราคำนวณวันคลอดได้อีกด้วย การไปหาหมอทุกครั้งก็เหมือนเป็นการตรวจสุขภาพและความพร้อมของแม่สุนัขไปในตัว หากมีปัญหาหรือความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมอก็จะสามารถทำการช่วยเหลือแม่สุนัขได้อย่างทันท่วงที

การเตรียมการคลอดสุนัข

การเตรียมการคลอดสุนัขมีหลายอย่างที่เจ้าของจะต้องทำก่อนถึงวันคลอดเพื่อให้มั่นใจว่าน้องหมาของเราและลูกหมาที่เกิดมาจะมีสุขภาพดี 

1.ถ้ารู้วันที่ผสมพันธุ์สามารถคำนวณวันที่จะคลอดได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 63 วันหลังผสมพันธุ์ หรือหากไม่ทราบวันผสมที่แน่นอน การอัลตร้าซาวด์สามารถช่วยประเมินวันคลอดได้ 

2.ควรพาสุนัขมาเอ็กซเรย์ช่วงใกล้คลอดเพื่อช่วยให้ทราบจำนวนลูกและเป็นการประเมินขนาดหัวลูกสุนัขต่อช่องเชิงกรานของแม่สุนัข หากหัวลูกใหญ่กว่าเชิงกรานของแม่มีโอกาสที่ต้องผ่าคลอด

3.วัดอุณหภูมิสุนัขวันละ 4-6 ครั้ง ถ้าอุณหภูมิลดลงอยู่ที่ 97-98 องศาฟาเรนไฮต์ แสดงว่าสุนัขจะคลอดภายใน 12-36 ชั่วโมง

5.ให้สุนัขอยู่ในสถานที่สงบก่อนถึงวันกำหนดคลอด ควรเตรียมสถานที่ให้สุนัขรู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัย อาจหากระบะใหญ่ ๆ แล้วหาผ้ามารอง จากนั้นพาแม่สุนัขมาทำความคุ้นเคยสถานที่

โดยการทำคลอดสุนัขสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 

1.การคลอดธรรมชาติ 

เจ้าของควรสังเกตอาการและพฤติกรรมคุณแม่สุนัขอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้เขาได้คลอดตามธรรมชาติ โดยที่เราสามารถคอยช่วยได้ ทั้งนี้ การฝากคลอดที่โรงพยาบาลสัตว์ก็เป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่เจ้าของไม่สามารถดูแลสัตว์ในระยะใกล้คลอดได้ เพราะการฝากคลอดจะมีสัตวแพทย์คอยประเมินและคอยช่วยเหลือ

2.การผ่าคลอด

การผ่าคลอดเป็นที่นิยมในสุนัขบางสายพันธุ์ แต่ต้องมีการจัดการหรือคำนวณวันที่ดีเพื่อใช้ในการกำหนดวันผ่าคลอด และต้องปรึกษาสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากระยะตั้งท้องในสัตว์สั้น หากการผ่าคลอดคลาดเคลื่อนจากวันที่กำหนดจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกสุนัข ดังนั้นการผ่าคลอดฉุกเฉินจะใช้ในกรณีที่สุนัขไม่สามารถคลอดลูกตามธรรมชาติได้

การดูแลสุนัขตั้งท้องและสิ่งที่ควรระวัง

ในช่วงระยะเวลาที่สุนัขตั้งท้อง เจ้าของต้องคอยดูแลใส่ใจในเรื่องต่าง ๆ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือเรื่องยาหรืออาหารเสริม เราไม่ควรให้ยาหรืออาหารเสริมที่เป็นแคลเซียมให้กับน้องหมาในช่วงตั้งครรภ์เพราะจะมีผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัสของแม่สุนัข ส่งผลถึงช่วงให้นมลูกได้ การเสริมแคลเซียมควรเสริมเมื่อร่างกายสุนัขขาดหรือเมื่อเกิดภาวะไข้น้ำนมเท่านั้น 

ทั้งนี้ อาหารเสริมจำพวก Folic Acid สามารถให้แม่สุนัขกินได้ เนื่องจากมีรายงานช่วยลดการเกิดโรคเพดานโหว่ (Cleft Palate) ในลูกสุนัขได้ แต่จริง ๆ แล้วเพียงแค่ให้เขาได้กินอาหารที่เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว เช่น อาหารสูตรแม่เลี้ยงลูก สูตรหย่านม หรือสูตร puppy เป็นต้น และควรเปลี่ยนอาหารตอนอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ขึ้นไปวันละ 3-4 มื้อ

ครอบครัวใครที่เลี้ยงน้องหมาตั้งท้องอยู่ควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิดและอย่าลืมพาน้องไปพบสัตวแพทย์ด้วยนะคะ เพื่อให้สุนัขของเราตั้งครรภ์และคลอดลูกได้อย่างปลอดภัยและเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกสุนัขที่จะเกิดมา อย่าลืมให้ความรัก ความใส่ใจ กับคุณแม่สุนัขป้ายแดงที่บ้านกันนะคะทุกคน

———————————————————————————–

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.กุญชรี ประกาลัง (หมอกุ๊กไก่) สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรมและแผนกหน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

ขวัญเกศ กนิษฐานนท์. (ม.ป.ป.). การตั้งท้องและการคลอดในสุนัข. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2564 จาก https://bit.ly/3jFUOAp

SUAREE NOON. (2021). สุนัขตั้งท้องกี่เดือน วิธีดูและสังเกตอาการสุนัขตั้งครรภ์. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2564 จาก https://www.jomopetfood.com/dogs/how-long-are-dogs-pregnant/