Menu Close

วิธีรับมือเบื้องต้น เมื่อน้องหมาถูกงูกัด

ไม่ว่าเจ้าของอย่างเราจะดูแลลูกรักสี่ขาอย่างดีแค่ไหน แต่ด้วยนิสัยของสุนัขที่เขาจะมีความขี้เล่นและความช่างสงสัย เวลาน้องได้ออกไปเล่นนอกบ้านอาจซนจนไปเจอเข้ากับสัตว์มีพิษ ซึ่งถ้าแจ็คพอตไปเจอศัตรูน่ากลัวอันดับหนึ่งของน้องหมาอย่างงูพิษขึ้นมาล่ะก็น้องอาจถูกกัดจนพิษงูทำให้สุนัขเกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงถึงขั้นถึงเสียชีวิตได้ 

เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมรับมือหากเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดดังกล่าว เราเลยมีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้น้องหมามาฝากคนเลี้ยงสุนัขให้ได้เตรียมตัวเตรียมใจกันหากเจอน้องหมาถูกงูกัด มาดูกันว่าเราจะดูแลน้องเบื้องต้นอย่างไรได้บ้างก่อนพาไปโรงพยาบาล

ความแตกต่างระหว่างงูพิษกับงูไม่มีพิษ

ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่างูนั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ งูที่มีพิษและงูที่ไม่มีพิษ ซึ่งความแตกต่างของงูแต่ละชนิดก็มีผลที่แตกต่างกันต่อสุนัขเวลาโดนกัด

สุนัขที่ถูกงูพิษกัดจะมีสิ่งที่สังเกตได้ชัด คือ รอยเขี้ยว 2 จุดบริเวณที่ถูกกัด และจะเริ่มมีอาการเจ็บปวดหรือส่งเสียงร้องออกมาให้เราได้ยินว่าเขาเจ็บ อาจมีการเดินยกขาหรือเดินกะเผลกหากน้องหมาถูกกัดที่ขา 

อย่างไรก็ตามอาการอาการของสุนัขที่ถูกงูกัดอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของงูที่กัด ซึ่งพิษงูสามารถแบ่งตามอาการได้ดังนี้

1.Neurotoxins : ทำให้เกิดอาการทางประสาท เช่น เดินผิดปกติ เกร็ง ชัก อัมพาต พบได้ในงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และงูทะเล

2.Myotoxin : เป็นพิษที่ทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง กล้ามเนื้อแข็ง ถ่ายปัสสาวะดำ พบได้ในพิษงูทะเล

3.Hemotoxins : มีผลทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกและทำลายผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีการยับยั้งการแข็งตัวเองเลือดทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงพบได้ในพิษของงูกะปะ งูเขียวหางไหม้ และงูแมวเซา

การรับมือเบื้องต้นเมื่อน้องหมาถูกงูกัด

“เมื่อเจ้าของพบว่าสุนัขถูกงูกัด ควรรีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์

เพื่อให้สัตวแพทย์รักษาให้เร็วที่สุด”

หากสุนัขถูกงูกัด ระยะเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาน้องหมาที่สุด หากเจ้าของพามาพบสัตวแพทย์ได้เร็วก็มีโอกาสที่จะรักษาชีวิตของน้องได้ทันท่วงที ซึ่งระหว่างที่พามาโรงพยาบาลสัตว์เราสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้สุนัขก่อนพามาพบสัตวแพทย์ได้ ดังนี้

1.ล้างปากแผลที่โดนงูกัดด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือเพื่อล้างพิษออกให้มากที่สุด

2.ห้ามนำเชือกมามัด เพราะอาจทำให้เกิดเนื้อตายได้

3.เก็บซากงูหรือถ่ายภาพ เพื่อให้สัตวแพทย์ทราบชนิดของงูที่กัดและเลือกเซรุ่มรักษาได้ถูกกับพิษงู แต่หากไม่ได้ถ่ายภาพหรือไม่รู้ว่างูชนิดไหนกัดสามารถให้สัตวแพทย์ดูอาการแล้วประเมินการรักษาต่อไป

4.พามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้สุนัขรับเซรุ่มรักษาพิษงูได้ทันท่วงที

หลังจากปฐมพยาบาลแล้ว เจ้าของต้องรีบพาสุนัขมาโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุดเพราะหากน้องถูกกัดแล้วปล่อยไว้ระยะเวลานานจนสัตวแพทย์ไม่สามารถรักษาได้ทัน เราอาจต้องเสียลูกรักสี่ขาของเราไปได้นะคะ

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก) โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Ramathibodi Poison Center. Snake venom. Retrieved September 10, 2021, from https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/snake

Kumar A, Rohi RR, Pawar P, Yadav R, Yadav P. Therapeutic management of snakebite in a male dog. Sch J Agric Vet Sci. 2016: 3(2)103-104.

OSDCO. เมื่อน้องหมาโดนงูพิษกัด. https://www.osdco.net/communities/knowledge/207/snake-bite