อัมพาตในแมว อาการที่พบ คือ แมวไม่ใช้สองขาหลังแบบเฉียบพลัน ทานอาหารลดลงหรือไม่ทานอาหารเลย หายใจค่อนข้างเร็ว ปัสสาวะเล็ดหรือไม่ปัสสาวะ โดยพบได้ในแมวทุกอายุ แต่มักพบในแมวอายุน้อย ไม่มีประวัติเรื่องอุบัติเหตุหรือการได้รับสารพิษมาก่อน
สาเหตุของการไม่ใช้สองขาหลังหรืออัมพาต เกิดจากการที่ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ส่งผลให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงขาหลังทั้งสองข้าง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่ขยายใหญ่ผิดปกติ มีเลือดไหลเวียนในหัวใจห้องซ้ายอยู่นานจนทำให้เกิดลิ่มเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติในแมวแบ่งเป็น 2 ชนิด
- ชนิดปฐมภูมิ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบขยายขนาด โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาเต้นผิดจังหวะ และแบบที่ไม่สามารถระบุได้ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ เช่น เมนคูน เบงกอล เปอร์เซีย อเมริกันชอร์ตแฮร์ บริติชชอร์ตแฮร์
- ชนิดทุติยภูมิ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูงทั่วร่างกาย โรคต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ ภาวะขาดสารอาหารชนิดทอรีน และโรคต่อมใต้สมองสร้างโกรทฮอร์โมนมากผิดปกติ
การวินิจฉัยโรค สัตวแพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายหลายอย่างประกอบกัน
- การคลำตรวจร่างกาย โดยมักไม่พบชีพจรที่ขาหลังทั้งสองข้าง ปลายเท้าหลังทั้งสองข้างเย็น ไม่มีปฏิกิริยาของสองขาหลัง
- การตรวจเลือด เช่น การตรวจดูเม็ดเลือด การตรวจหาไวรัส การตรวจดูค่าตับ ค่าไต หรือการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ และการตรวจฮอร์โมนที่บ่งบอกว่าเป็นโรคโรคหัวใจ
- การทำรังสีวินิจฉัย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจโต มีน้ำในช่องอกหรือไม่ ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้แมวไม่ใช่ขาหลัง เช่น กระดูกสันหลังหัก เนื้องอกหรือมะเร็งในช่องท้อง
- การอัลตราซาวด์หัวใจ หรือ echocardiogram เพื่อดูผนังหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในห้องหัวใจ
- การทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพื่อหาลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือการตรวจดูอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
การรักษา
สัตว์แพทย์จะให้ยาที่สลายลิ่มเลือด ยาลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและยาลดปวด รวมทั้งการให้สารน้ำและออกซิเจน และยาอื่นๆตามอาการและสาเหตุ
การป้องกัน ทำได้ เช่น การให้อาหารสำเร็จรูปแมวเนื่องจากมีทอรีนเป็นส่วนประกอบ โดยทอรีนมีความสำคัญต่อกล้ามเนื้อหัวใจแมว
สรุปแล้วแมวที่เป็นโรคหัวใจและเกิดภาวะนี้มักจะเสียชีวิต จากภาวะที่ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆขาดเลือดและเกิดเนื้อตาย ร่วมกับภาวะหัวใจวาย เนื่องจากภาวะนี้เกิดได้อย่างเฉียบพลัน ดังนั้นหากเจอแมวที่มีอาการเหล่านี้ควรพาไปตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที ก็เพิ่มโอกาสในการตอบสนองต่อการรักษามากขึ้น
โดย สัตวแพทย์หญิงปิโยรส โพธิพงศธร
แพทย์ประจำศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน