Menu Close

4 อาการที่บอกว่าสุนัขและแมวอาจป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

บ่อยครั้งที่เราเห็นสุนัขและแมวไอหรือจามบ่อยๆและมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ใครจะรู้ว่าอาการดังกล่าวมีความอันตรายต่อชีวิตของสัตว์เลี้ยงจนถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต แม้การสังเกตอาการของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจนั้นอาจค่อนข้างดูได้ยาก แต่เป็นโรคที่สำคัญที่มีโอกาสที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้โดยเฉียบพลัน ดังนั้นเจ้าของจึงควรเรียนรู้ถึงสัญญาณอันตรายเบื้องต้นที่น้องหมาน้องแมวแสดงออกมาเพื่อที่จะได้พาไปพบสัตวแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อลูกๆของเราอาจป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เราจะรู้ได้อย่างไร ลองมาเช็คอาการกัน

4 อาการที่บอกว่าน้องหมาน้องแมวอาจป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

1.จมูกแห้งหรือมีน้ำมูก

ปกติจมูกของสัตว์ที่สุขภาพดีจะมีความชุ่มชื้นนิดๆ ดังนั้นเมื่อเราพบว่าจมูกของสุนัขหรือแมวแห้งผิดปกติจนเกินไป หรือจมูกมีน้ำมูกมากเกินกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึงอาการป่วย มีไข้ หรือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของระบบทางเดินหายใจได้ แต่ในกรณีสุนัขบางสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊กหรือเฟรนช์บูลด็อก อาจมีน้ำมูกได้ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนหรือหลังเจ้าของพาไปเดินออกกำลังมากกว่าปกติ

วิธีสังเกตลักษณะของน้ำมูกที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ได้แก่

  1. มีน้ำมูกใสหยดตลอดและสัตว์เลี้ยงมีอาการเลียจมูกบ่อยๆ
  2. น้ำมูกมีความเหนียวข้น เป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
  3. น้ำมูกมีการไหลออกมาจากข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
  4. สีของน้ำมูกเปลี่ยนไป เช่น พบเป็นสีชมพูหรือสีแดง อาจบ่งบอกว่ามีเลือดปนออกมาด้วย

2.จาม

ในสัตว์เลี้ยงการจามจะสังเกตได้ง่ายและมีลักษณะคล้ายกับคน คือ สัตว์จะสะบัดหัว พ่นน้ำมูกออกมาทางจมูก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

2.1 เป็นหวัดธรรมดา สาเหตุที่ทำให้เป็นหวัด เช่น

  1. อาการภูมิแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ
  2. ภาวะติดเชื้อในทางเดินหายใจ
  3. โรคโพรงจมูกอักเสบ
  4. โรคก้อนเนื้อหรือสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก
  5. การระคายเคืองในทางเดินหายใจและพยายามพ่นขับสิ่งที่อยู่ในโพรงจมูกออกไป

2.2 อาการจามย้อน (Reverse sneezing)

คือ การสูดลมกลับเข้าไปในโพรงจมูก สุนัขและแมวจะมีการเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับทำเสียงดังครอกๆครืดๆเป็นจังหวะ การจามย้อนจะพบได้ในสุนัขหรือแมวที่มีปัญหาการตีบของหลอดลมหรือเป็นภูมิแพ้

ปกติเวลาสุนัขและแมวจามอาจเป็นการจามเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ แต่หากเจ้าของท่านใดพบอาการจามย้อนในน้องหมาน้องแมวบ่อยครั้งจนเกินไป ควรพามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด เพราะอาจหมายถึงสัตว์เลี้ยงมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ควรมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

3.ไอ

การไอคือการตอบสนองของร่างกายเพื่อขับบางสิ่งบางอย่างออกไป เช่น ขับเสมหะที่ดักจับฝุ่นละอองที่อยู่ในอากาศ หรือขับสิ่งแปลกปลอมบางอย่างที่สำลักเข้าสู่หลอดลม เป็นต้น แต่นอกจากสาเหตุเหล่านั้น การไอยังเกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยได้ด้วย ตัวอย่างโรคในสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เกิดการไอที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. โรคหลอดลมอักเสบ หรือโรคปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
  2. โรคหลอดลมตีบ มักพบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน
  3. โรคพยาธิหนอนหัวใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจโดยตรง
  4. กลุ่มโรคเนื้องอกในช่องอกหรือที่แพร่กระจายมาที่ปอด 

อาการไอเพียงอย่างเดียวไม่ถือเป็นสัญญาณอันตรายมากนัก ยกเว้นสัตว์มีการไอร่วมกับลักษณะของการหายใจที่แปลกไป เช่น หายใจเร็ว หอบ นอนไม่ได้ หรือแสดงอาการหายใจไม่ออก อย่างไรก็ตามหากสัตว์เลี้ยงยังคงไอติดต่อกันเป็นเวลานาน เจ้าของควรรีบพาน้องมาพบสัตวแพทย์ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการไอเรื้อรังอาจส่งผลให้บางอวัยวะในทางเดินหายใจเกิดปัญหาร่วมด้วย เช่น สัตว์ไอรุนแรงจนเนื้อเยื่อในหลอดลมอักเสบหรือฉีกขาด หรืออาการไอจากโรคหัวใจที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมปอดซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้น้องๆเสียชีวิตได้

4.อาการหอบ หรือ หายใจแรง

สุนัข “หอบ” อาจจะเป็นเรื่องปกติที่เราพบเห็นอยู่เป็นประจำ เพราะอาการหอบเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เนื่องจากผิวหนังสุนัขไม่มีรูขุมขนไว้ระบายความร้อนที่ออกมาทางเหงื่อเหมือนคน (สุนัขมีเหงื่อออกได้เฉพาะบริเวณง่ามเท้าเท่านั้น) อาการหอบที่พบโดยปกติเป็นการหายใจแบบเร็วและตื้น มีน้ำไหลจากลิ้น ปาก และทางเดินหายใจส่วนต้น การระเหยของน้ำนี้จะช่วยลดอุณหภูมิ คลายความร้อนออกจากร่างกาย อัตราการหายใจปกติของสุนัข คือ 30-40 ครั้ง/นาที แต่เมื่อสุนัขมีอาการหอบอัตราการหายใจจะสามารถเพิ่มขึ้นได้เป็น 10 เท่าหรือ 300-400 ครั้ง/นาที แต่ในบางรูปแบบ เช่น การหอบจนลิ้นเปลี่ยนสี หรือมีการหายใจที่รุนแรงผ่านช่องท้อง ลักษณะเช่นนี้บ่งบอกถึงสัญญาณความผิดปกติของตัวสัตว์ที่เจ้าของต้องสังเกตให้เห็นและรีบพาน้องไปโรงพยาบาล เพราะอาการดังกล่าวคือภาวะที่ตัวสัตว์หายใจไม่ออกอย่างรุนแรง ซึ่งถ้ายังปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสเสียชีวิตได้

อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจดังที่กล่าวมา สามารถใช้เพื่อให้เจ้าของสามารถสังเกตถึงความผิดปกติต่างๆของตัวสัตว์เลี้ยงได้ด้วยตัวเองที่บ้าน และช่วยในการตัดสินใจในการพาน้องๆมาโรงพยาบาลเพื่อพบสัตวแพทย์ หากพบสาเหตุได้เร็วก็จะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป ทำให้น้องๆอยู่กับเราไปได้อีกนานนะคะ

ข้อมูลจาก

สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอนุ่น) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน