สารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุนัขและแมวในทุกช่วงวัย เพื่อให้ร่างกายสามารถเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ป่วยและในระยะพักฟื้นจากการป่วยหรือหลังผ่าตัด ต้องการเป็นอย่างยิ่ง

สัตว์ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงพักฟื้นมักจะได้รับอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากความอยากอาหารที่ลดลงตามสภาวะความเจ็บป่วย ทำให้น้ำหนักตัวลดลง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกันและระบบการเผาผลาญทำงานบกพร่องไป
ในขณะที่ร่างกายสัตว์ป่วยมีความต้องการพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เพิ่มเติมจากโรคแทรกซ้อนต่างๆได้และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นวันนี้โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันจะมาบอกสารอาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์ป่วยกัน
สารอาหาร(nutrients)ที่สำคัญในอาหารสัตว์ป่วยพักฟื้น
1. กรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) เช่น Glutamine, Arginine, branched-chain amino acid (BCAA) Isoleucine, และ อื่นๆ
Glutamine – เป็นสารอาหารตั้งต้นของเซลล์ในลำไส้ (enterocyte) เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (immune cells) และเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนโปรตีนให้เป็นกลูโคส (gluconeogenesis)
Arginine – มีผลการต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโปรตีน มีหน้าที่สำคัญในวัฏจักรยูเรีย (urea cycle) ทำหน้าที่ในการกำจัดของเสียจำพวกไนโตรเจน (nitrogen wastes)

2. กรดไขมัน omega 3 เช่น Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA) – เป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการลดอักเสบและเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกัน
3. กรดไขมัน omega 6 เช่น Arachidonic acid (AA) – เป็นส่วนประกอบของชั้น phospholipid ของ cell membrane ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายของแผล (wound healing) โดย EPA (จาก omega 3) และ AA (จาก omega 6) จะช่วยลดกระบวนการอักเสบ (inflammation) และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานมากขึ้น
*โดยกรดไขมัน omega 6 : omega 3 ในสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการลดอักเสบ คือ 5:1 – 10:1*

สุนัขและแมวต้องการสารอาหารเหมือนกันไหม?
สุนัขและแมวมีความต้องการสารอาหารที่ต่างกันโดยเฉพาะโปรตีน เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ (obligate carnivores) จึงมีความต้องการโปรตีนในปริมาณที่มากกว่าสุนัขที่เป็นสัตว์กินทั้งพืชและเนื้อ (facultative carnivores)
สารอาหารบางตัวในสุนัข เช่น Taurine หรือกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น (non-essential amino acid) ก็เป็นกรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) ในแมว เนื่องจากแมวไม่สามารถเปลี่ยน Methionine ให้เป็น Cystine ได้เหมือนในสุนัข และไม่สามารถเปลี่ยน Linoleic acid ให้เป็น Arachidonic acid ได้ อีกทั้งความชื่นชอบในกลิ่น รสชาติ และเนื้ออาหารของสุนัขและแมวก็แตกต่างกันด้วย

ข้อมูลจาก:
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก)
แผนกอายุรกรรม, แผนกอัลตร้าซาวด์
สัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน