เอ็นหัวเข่าขาดเป็นอาการที่สุนัขทุกตัวมีโอกาสเป็นได้ สาเหตุของการเกิดภาวะเอ็นหัวเข่าฉีกนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
1. แบบเฉียบพลัน มักเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ เช่น สุนัขวิ่งตกหลุม ทำให้เกิดการบิดงอของขาหลังเข้าทางด้านในจนเอ็นหัวเข่าถูกดึงรั้ง มากเกินไปจนฉีกขาดได้
2. แบบเรื้อรัง น้องหมามักมีภาวะข้อเสื่อมจากปัญหาลูกสะบ้าเคลื่อนเป็นระยะเวลานานก่อนหน้า โน้มนำให้เอ็นหัวเข่าขาดตามมา ซึ่งในน้องหมา ส่วนใหญ่ประมาณ 80% มักเป็นแบบเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัยการฉีกขาดของเอ็นหัวเข่า สัตวแพทย์จะทำการประเมินการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งในน้องหมาปกตินั้น จะไม่สามารถดันกระดูกหน้าแข้งไปด้านหน้าได้
สำหรับการ x-ray จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อเข่าชัดเจนในกรณีที่มีการบาดเจ็บเรื้อรัง เนื่องจากจะเห็นลักษณะของข้อเสื่อมและกระดูกพอกทั้งในท่านอนตะแคงและท่านอนหงาย
หาสุนัขไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาแบบไม่ถูกวิธี น้องหมาก็จะเดินไม่คล่องและไม่ยอมลงน้ำหนักเข่าข้างนั้นเพราะเจ็บ นานวันเข้าน้องหมาจะกลายเป็นหมาพิการ เนื่องจากกล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ
การรักษาการฉีกขาดของเอ็นหัวเข่าให้ได้ผลดีนั้น แม้จะมีการรักษาเบื้องต้น เช่นการให้ยาลดปวด การลดน้ำหนัก และการจำกัดการออกกำลังกาย แต่สัตวแพทย์ก็มักแนะนำให้ใช้วิธีทางศัลยกรรม เนื่องจากเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด ทำให้น้องหมากลับมาลงน้ำหนักขาได้ ลดความเจ็บปวด และลดการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อขาในอนาคต ซึ่งการวินิจฉัยโรคในระยะต้นๆและรีบทำการรักษาจะช่วยให้ผลการผ่าตัดออกมาดี
การทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ในทีนี้ขอนำเสนอวิธี Tibial tuberosity advancement หรือเรียกย่อ ๆ ว่า TTA เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่อาศัยหลักการทางฟิสิกส์ลดมุมของด้านหลังกระดูกหน้าแข้ง (tibial plateau) โดยตัดส่วนหน้าของกระดูกหน้าแข้ง (tibial tuberosity) ซึ่งเป็นจุดยึดเกาะเส้นเอ็นของลูกสะบ้า (patellar ligament) ย้ายไปด้านหน้าให้เส้นเอ็นของลูกสะบ้าตั้งฉากกับด้านหลังกระดูกหน้าแข้ง ดังรูป
ข้อดีของเทคนิค TTA คือให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจในระยะยาว อุปกรณ์ที่ใส่มีความคงทนแข็งแรง เหมาะสำหรับรองรับน้ำหนักของน้องหมาพันธุ์ใหญ่ได้ดี และในน้องหมาที่มีนิสัยร่าเริง ซุกซน ชอบวิ่งหรือกระโดด
แต่อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำ เนื่องจาก TTA เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างใหม่ ความสำเร็จหลังการผ่าตัดจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของสัตวแพทย์ด้วยส่วนหนึ่งการดูแลหลังการผ่าตัดก็คล้าย กับการผ่าตัดกระดูกทั่วๆไปคือน้องหมาต้องได้รับยาลดปวดลดอักเสบในช่วงแรก ต้องจำกัดบริเวณเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัดรวมไปถึงการควบคุมน้ำหนัก เฉพาะในสุนัขอ้วน
หากน้องหมาที่ก่อนการผ่าตัดไม่ได้ใช้ขาเป็นเวลานานจนกล้ามเนื้อขาเกิดการฝ่อลีบ 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด สัตวแพทย์มักแนะนำให้เริ่มโปรแกรมกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้น้องหมากลับมาลงน้ำหนักขาตามปกติได้เร็วขึ้น
หลังการย้ายกระดูกหน้าแข้งมาด้านหน้าให้ส่วนของเส้นเอ็นลูกสะบ้าตั้งฉากกับด้านหลังกระดูกหน้าแข้ง ก็จะทำการยึดด้วยเหล็กดามกระดูกที่มีลักษณะเฉพาะ ใช้เพื่อการแก้ไขเอ็นหัวเข่าฉีกขาดด้วยเทคนิค TTA เท่านั้น
ทั้งนี้โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันได้ใช้เทคนิค TTA นี้รักษา น้องโนเนะ สุนัขพันธ์ุผสมอายุ 10 ปี ที่เอ็นหัวเข่าขาดเพราะภาวะข้อเสื่อมเป็นเวลานาน ลูกสะบ้าเคลื่อนเข้าด้านในผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวหลังการผ่าตัดด้วยวิธี TTA น้องโนเนะกลับมาเดินได้เช่นเดิม
คลิปวิดิโอ น้องโนเนะ ก่อนและหลังได้รับการผ่าตัด