ฝนเทกระหน่ำขนาดนี้ สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างเห็บ หมัด เชื้อรา ยุง ก็ตื่นเต้นดีใจเพราะจะได้แพร่พันธุ์วางไข่ แต่ความดีใจของสัตว์เหล่านี้กลับเป็นความเศร้าของน้องหมา เพราะศัตรูตัวจิ๋วดังกล่าวจะดูดเลือดน้องหมาของเราเป็นอาหารและนำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่สุนัขอีกด้วย อาการก็มีตั้งแต่เป็นผื่นคันไปถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย แล้วเราเคยสงสัยกันไหมว่า “เห็บหมา” “หมัดหมา” นั้นมาจากไหน ยิ่งช่วงหน้าฝนเห็บหมัดจะเติบโตได้ดีกว่าฤดูอื่นมากถึง 70% ได้ยินแล้วขนลุกซู่ เห็นไหมล่ะว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามแม้แต่นิดเดียว
โรคของสุนัขที่เกิดจากเห็บหมัดมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งเป็นการติดเชื้อในเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาว โดยมีเห็บและหมัดเป็นพาหะ หมัดบางชนิดยังเป็นพาหะของพยาธิตัวตืด ลักษณะของพยาธิชนิดนี้จะคล้ายเม็ดแตงกวาหรือเม็ดข้าว อาจเกาะอยู่บริเวณใกล้ ๆ ก้นหรืออาจจะปนออกมากับอุจจาระ นอกจากนี้ยังมีโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด น้องหมาที่แพ้น้ำลายหมัดจะมีอาการคัน ขนร่วง ผิวหนังแดง หากเป็นมากอาจมีการอักเสบและติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งหากไม่จัดการหมัดให้หมด สุนัขของเราก็จะผิวหนังอักเสบเพราะแพ้น้ำลายหมัดตลอดไป
วงจรชีวิตเห็บ-หมัด
ก่อนจะรู้วิธีป้องกันและกำจัดเห็บหมัด สิ่งที่เราควรรู้คือวงจรชีวิตคร่าว ๆ ของเห็บและหมัดก่อน เริ่มจากเห็บซึ่งจะวางไข่นอกตัวสัตว์ โดยเห็บตัวเมียจะวางไข่ได้ทีละหลายร้อยฟอง ถึงจะมีเห็บแค่ 5 ตัวบนน้องหมาแต่มันก็สามารถแพร่พันธ์ได้เป็นหมื่น ๆ ตัว แถมไข่ที่อยู่ในดินก็สามารถอยู่ได้เป็นปี หากพบอากาศที่ชื้นได้อย่างเหมาะสมมันก็จะฟักเป็นตัวได้
การที่ไม่เห็นตัวหมัดไม่ใช่ว่าจะไม่มีหมัด โดยทั่วไปเราจะไม่ค่อยเห็นตัวหมัด เพราะ 95% ของตัวเต็มวัยจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามบริเวณกรง พื้นดิน หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นขี้หมัดเป็นสีดำหรือน้ำตาลที่ตัวน้องหมา แต่สำหรับน้องหมาที่ชอบความสะอาดก็อาจจะเลียขนจนเราไม่เห็นขี้หมัดเลยก็ได้ โดยหมัด 1 ตัววางไข่ได้ถึงวันละ 50 ฟอง จากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน แล้วเป็นระยะดักแด้ที่มีเปลือกแข็งหุ้ม ไม่มีอะไรทำลายดักแด้นี้ได้ และระยะดักแด้นี้อาจกินเวลาได้นานถึง 1 ปี จึงค่อยฟักเป็นตัวเต็มวัย ข้อนี้จึงเป็นเหตุสำคัญว่าทำไมเรากำจัดเห็บหมัดให้น้องหมาเท่าไรก็ไม่หมดสักที
สำหรับผู้ที่เลี้ยงหมาเกิน 2 ตัว หากเราเผลอละเลยดูแลน้องหมาแค่ไม่นาน เห็บหมัดก็สามารถระบาดไปทุกตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาที่น่ารำคาญให้เจ้าของสุนัขปวดหัวได้ และเห็บหมัดก็นำโรคต่าง ๆ มาให้สุนัขของเราอีกเพียบ อาทิ พยาธิในเม็ดเลือด พยาธิตัวตืด และการแพ้น้ำลายหมัด ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นภัยเงียบที่ทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้
การป้องกันและกำจัดเห็บหมัด
การป้องกันและกำจัดเห็บหมัดที่ได้ผล คือ เราควรกำจัดเห็บหมัดบนตัวน้องหมาควบคู่กับสร้างทำความสะอาดกรง พื้นกรง และพื้นที่ที่น้องหมาอยู่ ด้วยน้ำยากำจัดเห็บหมัดที่มีขายทั่วไปควบคู่กัน หากบนตัวน้องหมามีเห็บหมัดเยอะ เราจำเป็นต้องใช้สเปรย์กำจัดเห็บหมัดพ่นเพื่อลดปริมาณให้เร็วที่สุด หากเป็นหมาพันธุ์ขนยาวต้องไถขนให้สั้นเพื่อทำให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยสเปรย์นี้จะมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นต้องมีการใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาหยดหลัง ยาฉีด ปลอกคอ แต่หากน้องหมามีปัญหาผิวหนังอักเสบอยู่ไม่ควรใช้สเปรย์หรือแชมพูยากำจัดเห็บหมัดเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการ กำหนดตัวยา และขนาดที่ใช้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม
การกำจัดสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ เราควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์โดยใช้ยาพ่นหรือราดบริเวณกรงหรือที่อยู่ของน้องหมา และอย่าลืมทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สัตว์ไปเลียหรืออยู่ในพื้นที่ขณะมีการใช้ยาพ่นหรือราด
เจ้าของน้องหมาทุกคนควรกำจัดเห็บหมัดให้น้องอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นด้วยก็ควรทำกับสัตว์ทุกตัวในบ้านพร้อม ๆ กัน และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าปลอดภัย ข้อสำคัญที่สุดคือตรวจดูว่าผลิตภัณฑ์ที่เราใช้นั้นมี อย. หรือมีทะเบียนยาหรือไม่ อย่าเอาชีวิตน้องหมาของเราไปเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะนอกจากจะไม่สามารถกำจัดเห็บหมัดได้แล้ว เราอาจจะเสียน้องหมาที่รักไปอย่างคาดไม่ถึงด้วย และอย่าลืมพาน้องหมามาฉีดวัคซีนประจำปีเพื่อสร้างภูมิต้านทานและสุขภาพที่ดีให้กับเขาด้วยนะคะ
———————————————————————————–
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม และแผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน