Menu Close

แมวกินอาหารน้อย มีกลิ่นปาก สัญญาณบ่งบอกโรคช่องปากอักเสบ

แมวเบื่ออาหาร กินอาหารน้อยลงจนน้ำหนักลด เห็นแบบนี้ทาสแมวก็ปวดใจ เปลี่ยนอาหารให้ถูกใจก็แล้ว เปลี่ยนชามก็แล้ว ทำยังไง๊ยังไงน้องก็ยังไม่กิน ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่อาหารไม่ถูกใจน้องเหมียวแต่อยู่ที่ช่องปากของน้องมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทาสคนไหนที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ลองมาสังเกตกันว่าแมวของเรากำลังเป็นโรค “ช่องปากอักเสบ” อยู่รึเปล่า 

ช่องปากอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมวทุกช่วงอายุและทุกเพศ เวลาเป็นแมวจะเจ็บปวดในช่องปากและส่งผลให้น้องกินอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักลด ซึ่งปัญหาเล็ก ๆ ภายในช่องปากนี่แหละที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ของน้องแมวตามมาอีกมากจนอาจมีอาการป่วยแบบเรื้อรังได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนมองข้ามปัญหานี้ เราจะพาไปทำความรู้จักโรคช่องปากอักเสบในแมวกันมากขึ้น

โรคช่องปากอักเสบ เป็นคำเรียกรวม ๆ ที่หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปากทั้งหมด โรคนี้อาจเป็นแค่เฉพาะที่หรือทั่วทั้งช่องปากก็ได้ และมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ภาวะหินปูน โรคปริทันต์ โรคไต รวมถึงการติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อกลุ่มหวัดแมว การติดเชื้อลิวคีเมีย การติดเชื้อภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว เป็นต้น

โรคนี้จะพบได้บ่อยในแมวอายุมาก มากกว่าแมวอายุน้อย ในแมวอายุน้อยอาจพบในช่วงที่มีการงอกของฟันแท้หรือช่วงหลังฉีดวัคซีน

อาการของโรคช่องปากอักเสบในแมว

อาการบ่งชี้ที่บอกได้ว่าแมวของเรากำลังเป็นโรคช่องปากอักเสบ ได้แก่ กินอาหารลดลง น้ำหนักลด มีกลิ่นปาก แสดงอาการเจ็บเวลากินอาหารแข็ง ๆ หรือทำอาหารร่วงจากปากเวลากินอาหาร ชอบใช้ขาตะกุยปาก น้ำลายไหล (อาจมีเลือดหรือหนองปนออกมากับน้ำลาย) ขอบเหงือกบวมแดง มีแผลหลุมที่เหงือก ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม

เมื่อเจ้าของสังเกตพบว่าแมวมีอาการข้างต้น ควรพาน้องไปตรวจกับสัตวแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการรักษาโดยทันที เพราะหากปล่อยไว้จนแมวกินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด หรือมีสภาพร่างกายทรุดโทรมแล้ว การรักษาจะทำได้ยากและมีข้อจำกัดทางด้านการวางยาสลบเพื่อตรวจช่องปากโดยละเอียดหรือเพื่อทำการขูดหินปูน

การรักษาโรคช่องปากอักเสบในแมว

การรักษาควรให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำการรักษา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการตรวจภายในช่องปากอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อหาปัจจัยหรือการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการอักเสบของช่องปาก หากสภาพร่างกายและผลเลือดของแมวมีความพร้อมในการวางยาสลบ สัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำการขูดหินปูนและหรือถอนฟันที่มีปัญหาออกก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก จากนั้นอาจให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาลดการอักเสบตามความเหมาะสม

แม้จะพาน้องแมวมารักษากับสัตวแพทย์แล้วแต่เจ้าของก็ต้องคอยดูแลช่องปากของน้องร่วมด้วย อาจใช้น้ำเกลือล้างหรือเช็ดทำความสะอาดภายในช่องปากและตามซอกฟันอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันเชื้อต่าง ๆ หากระหว่างนี้อยากให้แมวกินอาหารมากขึ้นอาจลองปรับเปลี่ยนเป็นอาหารนิ่ม ๆ เพื่อให้น้องกินได้สะดวก และอย่าลืมพาน้องแมวไปรักษาตามนัดของสัตวแพทย์นะคะ

โรคช่องปากอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญกับสุขภาพโดยรวมของแมวเป็นอย่างมาก ดังนั้นเจ้าของจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของน้องแมวและควรพาไปตรวจช่องปากและขูดหินปูนกับสัตวแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี 

ดูแลสุขภาพช่องปากน้องแมวไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องใช้ความเอาใจใส่คอยสังเกตดูว่าช่องปากของน้องมีความผิดปกติบ้างไหม หากพบความผิดปกติควรรีบพาไปรักษาทันที อย่าปล่อยไว้นานจนกลายเป็นอาการเรื้อรังทำให้แมวเบื่ออาหารจนน้ำหนักลดนะคะ ไม่อย่างนั้นปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกแน่นอน

แหล่งอ้างอิง

My Pets Dentist. Feline Stomatitis. http://www.mypetsdentist.com/feline-stomatitis.pml

แนวหน้า. โรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมว (Feline Chronic Gingivostomatitis). https://www.naewna.com/lady/columnist/47735