Menu Close

ระวัง! โรคฉี่หนู ภัยร้ายสุนัขและแมวที่มากับหน้าฝน

เข้าสู่ช่วงฤดูฝน เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับภัยร้ายของสุนัขและแมวอย่าง “โรคฉี่หนู” โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สามารถพบได้ทั่วโลกและเป็นโรคที่เราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งพอฟังจากชื่อแล้วหลายคนอาจจะคิดว่าโรคฉี่หนูก็คงเป็นเพียงโรคที่เกี่ยวข้องกับหนูเท่านั้นจะมาเกี่ยวข้องกับสุนัขและแมวได้อย่างไร แต่ความจริงแล้วโรคที่เกิดจากหนูตัวเล็ก ๆ นี่แหละถือเป็นภัยเงียบของสุนัขและแมวที่แฝงตัวมากับหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคค่อนข้างมาก หากสัตว์ตัวไหนติดเชื้อความน่ากลัวคืออาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ใครที่กังวลกลัวว่าน้องหมาน้องแมวของตัวเองจะติดเชื้อลองมาทำความเข้าใจโรคนี้กัน

“โรคฉี่หนู” หรือ โรคเลปโตสไปโลซีส (Leptospirosis)” เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งอันตรายมากพอ ๆ กับโรคพิษสุนัขบ้า สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Leptospira spp. ที่พบได้มากในหนู และสามารถพบเชื้อแบคทีเรียนี้ได้มากในเขตร้อนชื้น เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและสามารถปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคไม่ได้มีเพียงแค่หนูตามชื่อโรคเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะนำโรคได้ เช่น หนู ควาย สุนัข แมว วัว หมู ฯลฯ หากสัตว์พวกนี้ได้รับเชื้อจะมีเชื้อโรคอยู่ที่ไตและขับออกมาสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางปัสสาวะหรือฉี่ 

สุนัขและแมวจะติดโรคฉี่หนูผ่านทางไหนได้บ้าง

สุนัขและแมวจะติดโรคฉี่หนูได้จากการสัมผัสแหล่งน้ำ ดิน โคลน ที่มีการปนเปื้อนปัสสาวะจากสัตว์พาหะนำโรคที่มีเชื้อ การสัมผัสเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มาจากบาดแผล หรือการกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนเข้าไป โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะมากับสารคัดหลั่งโดยเฉพาะปัสสาวะของสัตว์ ระยะฟักตัวของโรคฉี่หนูจะอยู่ที่ 7-14 วัน และสัตว์ที่ติดโรคฉี่หนูมักพบเชื้อโรคอยู่ในส่วนของไตทำให้สามารถพบเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะได้เป็นระยะเวลานาน

การป้องกันโรคฉี่หนู

เราสามารถป้องกันโรคฉี่หนูให้สุนัขและแมวได้ด้วยการพาน้อง ๆ มาฉีดวัคซีนประจำปี ซึ่งจะป้องกัน 5 โรค คือ โรคไข้หัด หวัด ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ และโรคฉี่หนู รวมอยู่ในเข็มเดียวกัน ดังนั้นใครที่เลี้ยงสุนัขและแมวจึงควรใส่ใจพาน้องหมาน้องแมวมาทำวัคซีนให้ครบเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง นอกจากสุนัขและแมวของเราจะปลอดภัยจากโรคนี้แล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคฉี่หนูที่จะมาติดสู่เราได้ด้วย

อาการของสัตว์ที่เป็นโรคฉี่หนู

สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคฉี่หนูจะมีการแสดงอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สัตว์บางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็นเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันสูง แต่บางตัวก็อาการรุนแรงถึงขั้นอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย เช่น ตับ ไต ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท

อาการของโรคฉี่หนูที่พบได้ในสัตว์ที่มีการติดเชื้อคือ มีไข้สูง อ่อนแรง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน พบจุดเลือดตามเยื่อเมือก สัตว์บางตัวอาจมีภาวะเลือดจางอย่างรุนแรงหรือภาวะดีซ่าน และในสัตว์ที่กำลังตั้งท้องอาจพบภาวะแท้งหรือลูกเสียชีวิตก่อนกำหนดได้ หากสัตว์ตัวไหนอาการหนักมีการติดเชื้อจนเข้าสู่กระแสเลือดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

การรักษาโรคฉี่หนูในสุนัขและแมว       

การรักษาโรคฉี่หนูในสุนัขและแมวสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ร่วมกับการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดในรายที่มีอาการรุนแรงหรือถ่ายเลือดในรายที่มีภาวะเลือดจางรุนแรง รวมถึงการป้องกันเรื่องสุขอนามัยให้กับสุนัขและแมวที่เจ้าของสามารถทำได้ด้วยการคอยรักษาความสะอาดให้กับน้องหมาน้องแมวอยู่เสมอ และระวังไม่ให้น้อง ๆ ไปกินน้ำ ว่ายน้ำ หรือเล่นในแหล่งน้ำดินโคลนที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ รวมถึงสวมถุงมือและล้างมือทุกครั้งเมื่อมีการสัมผัสกับสัตว์ป่วย ก็จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้

แหล่งอ้างอิง

สพ.ฐิติกร เอกสิริไตรรัตน์ (หมอซัน) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Leptospirosis in animal and its public health implications: a review

WaktoleYadeta,Bashahun G,Michael and NejashAbdela

World applied sciences journal 845-853