นอกจากยุงจะเป็นสัตว์ที่ดูดกินเลือดคนเป็นอาหารหรือสร้างความน่ารำคาญด้วยการมาบินวนแถวหูเราจนทำให้หงุดหงิดแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า “ยุง” ยังเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายแรงอย่างโรคพยาธิหนอนหัวใจมาสู่สุนัขของเราได้อีกด้วย เมื่อสุนัขที่เรารักเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจจะมีอาการอย่างไร และมีวิธีป้องกันหรือรักษาอย่างไรบ้าง ลองมาดูข้อมูลเบื้องต้นกัน
โรคพยาธิหนอนหัวใจ เกิดจากเชื้อ Dirofilaria immitis เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข พบได้บ้างในแมว แต่พบได้ยากในคน ซึ่งโรคนี้มี “ยุง” เป็นพาหะ การติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้จากยุงที่กินเลือดสุนัขที่มีตัวอ่อนของเชื้อนี้อยู่ แล้วตัวอ่อนจะพัฒนาในตัวยุง จากนั้นเมื่อยุงไปกัดสุนัขตัวอื่นก็จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดเชื้อให้สุนัขตัวที่ถูกยุงกัด โดยพยาธิตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจมักจะอาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียง การที่มักจะพบพยาธินี้อยู่ในหัวใจจึงทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่า พยาธิหนอนหัวใจ (heart worm)
อีกทั้งพยาธิหนอนหัวใจมักพบได้ทั่วไปในเขตที่มีอากาศอบอุ่นและแถบเมืองร้อนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ดังนั้นถ้าเลี้ยงสุนัขในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้สูง สุนัขก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ได้มาก
อาการของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ
ถึงแม้สุนัขจะติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจเมื่ออายุน้อย แต่ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการป่วยเมื่อมีอายุมากขึ้น คืออายุมากกว่า 4 ปี ซึ่งพบว่าสุนัขที่ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมากจะมีอาการเบื้องต้นคือ ไอแห้ง ซึม เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ร่างกายอ่อนเพลีย บางตัวจะมีเลือดออกมาด้วยเมื่อไอ และในระยะต่อมาจะเกิดอาการบวมน้ำและท้องมาน และเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้สุนัขที่ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจบางตัวอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจ ถ้ามีตัวแก่จำนวนน้อยก็จะไม่พบอาการป่วย แต่ถ้ามีตัวแก่จำนวนมากจะทำให้เกิดปัญหาระบบหมุนเวียนโลหิต ซึ่งอาการอาจจะสังเกตได้ในสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น พันธุ์อัลเซเชียน โดยสุนัขจะเหนื่อยง่าย หอบเมื่อให้ออกกำลังกาย และสุนัขบางตัวถึงกับหัวใจวายตายได้
การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข
สัตวแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพสุนัขอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจค่าโลหิตวิทยาเพื่อดูการทำงานของตับและไต ในบางรายอาจจำเป็นต้องเอ็กซเรย์ช่องอกเพื่อดูสภาพของหัวใจและปอดด้วย เพื่อดูว่าสุนัขสามารถฉีดยาทำลายตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจได้หรือไม่ ถ้าสุนัขสุขภาพไม่ดีก็จำเป็นที่จะต้องให้การบำรุงไปก่อน ถ้าสุขภาพอยู่ในขั้นที่จะฉีดยารักษาได้ก็ให้ทำการรักษาทันที และแนะนำว่าควรตรวจสุขภาพสุนัขก่อนทำการฉีดยารักษาโรคนี้ เนื่องจากยาที่ใช้ฉีดทำลายตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจมีความเป็นพิษสูง
ทั้งนี้สุนัขที่ฉีดยารักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจอาจจะเสียชีวิตได้เนื่องจากตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่ตายอุดหลอดเลือด ดังนั้นจึงควรเฝ้าดูแลสุนัขที่ฉีดยารักษาไว้อย่างน้อย 2-6 สัปดาห์ เพื่อดูอาการ
หลังจากฉีดยาทำลายตัวแก่แล้วประมาณ 4 สัปดาห์ จึงควรให้สุนัขกินหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อน และให้กินหรือฉีดยาป้องกันตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ เพื่อไม่ให้สุนัขเกิดโรคนี้ขึ้นมาได้อีก
การควบคุมและป้องกัน
ด้วยความที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนและมียุงตลอดปี การจะห้ามไม่ให้ยุงมากัดสุนัขจึงอาจทำได้ยาก ต้องใช้วิธีการป้องกันโดยการกินยาหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อนในเลือดสุนัขเพื่อไม่ให้พัฒนาไปเป็นตัวแก่ในหัวใจสุนัข แต่การฉีดยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจจะสะดวกและประหยัดกว่าการให้กินยา เพราะถ้าให้สุนัขกินยาต้องให้กินทุกเดือน แต่ถ้าฉีดยาจะฉีดทุก 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่สุนัขอายุ 3 เดือน
โดยการเข้าโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข ขั้นแรกต้องทำการตรวจเลือดก่อนว่ามีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจอยู่หรือไม่ ถ้าตรวจไม่พบตัวอ่อนก็เข้าโปรแกรมป้องกันได้เลย แต่ถ้าตรวจพบตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ แสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจ ต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อน จากนั้นจึงเข้าโปรแกรมป้องกันโรคนี้
ส่วนสุนัขที่ต้องการจะเข้าโปรแกรมการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ แต่เคยได้รับยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาแล้ว แต่ไม่ได้รับต่อเนื่องตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ หรือเคยประยุกต์ใช้ยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาใช้ในการกำจัดเห็บและขี้เรื้อน ในทั้งสองกรณีนี้จำเป็นต้องทำการตรวจทางวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อหาแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในเลือดก่อน เพราะถึงแม้จะตรวจเลือดไม่พบตัวอ่อน แต่ก็อาจจะมีตัวแก่ในหัวใจได้ ถ้าผลการตรวจเป็นลบ แสดงว่าไม่มีพยาธิหนอนหัวใจตัวแก่ สามารถเข้าโปรแกรมการป้องกันได้เลย แต่ถ้าผลเป็นบวกแสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจ ต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อน จากนั้นจึงเข้าโปรแกรมการป้องกัน
ในปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจมีราคาแพงมาก จึงควรที่จะป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคนี้จะดีกว่านะคะ
อ่านบทความอื่น ๆ อย่าวางใจ สุนัขและแมวโลหิตจาง อันตรายกว่าที่คิด