โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด
โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด ถึงเวลาแล้วที่เราควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้เรารับมือได้อย่างปลอดภัยและช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อ
ไวรัส Rabies (อ่านว่าเรบี้ส์) ที่จะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการบ้า โดยเชื้อพิษสุนัขบ้านั้นแพร่ผ่านน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ผ่านการกัด จึงทำให้โรคนี้สามารถติดต่อไปสู่คน และสัตว์ชนิดอื่นได้ หลังจากที่ได้รับเชื้อแล้วจะแสดงอาการภายใน 21 ถึง 60 วัน
โดยเชื้อไวรัสตัวนี้ถูกทำลายได้โดย ความร้อน แสงแดด ความแห้ง นอกจากนี้ยังถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำสบู่
และสารเชื้อทั่วๆ ไป เช่น แอลกอฮอล์ แต่ถ้าเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเพียงพอ จะเข้าไปที่ระบบประสาท ทำให้มีอาการทางประสาทและเสียชีวิตได้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดต้องระวัง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก ม้า
ปศุสัตว์เช่น โค กระบือ หรือแม้กระทั่งในสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั้งค์ สุนัขจิ้งจอก และเฟอร์เรท เป็นต้น นอกจากนี้มีรายงานว่าค้างคาวเป็นตัวอมโรคที่สำคัญของโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย และโรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ทั่วโลก
น้ำลาย ทางแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้โดยตรงจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด ข่วน หรือ เลีย ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลาย เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกซึ่งการสามารถแพร่เชื้อทางน้ำลายเกิดได้ตั้งแต่ 1-7 วันก่อนที่สัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อไวรัสระหว่างสัตว์โดยการกินนมที่ไม่พาสเจอร์ไรส์ แต่เชื้อไวรัสนี้จะไม่แพร่กระจายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ
อาการทางประสาทรุนแรงถึงเสียชีวิต
จากการเก็บข้อมูลระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการของโรคอาจรวดเร็วภายใน 4 วัน
หรือนานได้ถึง 1 ปี แต่ส่วนมากมักจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์ – 4 เดือน โดยอาการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
- อาการแบบซึม อาการแบบนี้สุนัขจะแอบซ่อนตัวเอง ไม่กินน้ำ ไม่กินอาหาร ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา ขากรรไกรแข็ง และจะซึมอยู่แบบนี้จนตาย ไม่แสดงอาการดุร้าย นอกจากจะมีคนไปยุ่งหรือพยายามจับตัว
- อาการแบบดุร้าย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1
พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนไป มีการแยกตัว มีอารมณ์หงุดหงิด การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คือร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น รูม่านตาขยาย โดยจะมีอาการแบบนี้อยู่ 2-3 วันก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2
ระยะที่ 2
ระยะนี้จะเริ่มมีความก้าวร้าวขึ้นชัดเจน สุนัขจะมีความกระวนกระวาย กัดสิ่งของอย่างรุนแรงจนเลือดออกปาก หรือฟันหัก กล้ามเนื้อเริ่มเป็นอัมพาตส่งผลให้เสียงเห่าหอนผิดเพี้ยนไปจากเดิม เป็นผลมาจากกล่องเสียงที่เป็นอัมพาต ลิ้นห้อยน้ำลายไหล ขาอ่อนแรง ลำตัวแข็ง ออกวิ่งอย่างไร้จุดหมาย
ระยะสุดท้าย
อาการอัมพาตจะแพร่ขยายลามไปทั่วตัว ลิ้นห้อย น้ำลายไหล แสดงอาการตื่นอย่างเห็นได้ชัดก่อนจะตายภายใน 2 – 4 วัน

การฉีดวัคซีนป้องกันสำคัญที่สุด
การป้องกันโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุดและสำคัญมากเนื่องจากการรักษาในคนรวมถึงในสัตว์ที่แสดงอาการของโรคแล้ว
ยังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย นั่นคือเมื่อแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตเท่านั้น แต่การป้องกันโรคนี้ทำได้ไม่ยากนักคือการทำวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง โดยควรพาสุนัขหรือแมวไปทำวัคซีนพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 4 เดือน จากนั้นกระตุ้นปีละครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนพิษสุนัขบ้าว่าสามารถป้องกันโรคได้นานถึง 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดจึงแนะนำให้ทำวัคซีนทุกปี สำหรับคน
ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และ เป็นบุคคลที่ต้องสัมผัสกับสัตว์อยู่เสมอ ก็ควรทำวัคซีนป้องกันไว้เช่นกัน
นอกจากนั้นไม่ควรสัมผัส จับ หรือให้อาหารสัตว์ที่ไม่รู้ประวัติและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
หากโดนกัด ข่วน เลีย สัมผัสน้ำลาย อย่านิ่งนอนใจ พบหมอทันทีเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราถูกสัตว์อื่นกัดควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาแผล และพิจารณาแนวทางในการทำวัคซีน กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเรามีการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกสัตว์อื่นที่สงสัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้ากัด ในปัจจุบันนี้แนะนำให้ทำวัคซีนซ้ำอีกครั้งทันที และ ทำการกักตัวสัตว์เลี้ยงของเราแยกจากตัวอื่นไว้เป็นเวลา 45 วัน โดยให้อาหารและน้ำตามปกติเพื่อสังเกตว่ามีการแสดงอาการของโรคหรือไม่ ถ้าไม่มี ให้ปล่อยออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ และทำวัคซีนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเราไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย หรือได้รับวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรือประวัติการทำวัคซีนไม่แน่ชัด ในกรณีนี้ ตามข้อตกลงสากลให้ทำการ เมตตาฆาต(Euthanasia) หรือการทำการฉีดยาให้เสียชีวิตทันที หรือหากเจ้าของไม่ประสงค์จะทำ จะต้อทำการกักตัวสุนัขไว้เป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ฉีดวัคซีนทันทีหลังจากถูกกัด และคอยสังเกตอาการ ถ้ามีการแสดงอาการของโรค ให้ทำการเมตตาฆาตทันทีแต่ถ้าไม่มีการแสดงอาการใดๆ 1 เดือนก่อนปล่อยตัวให้ทำการฉีดวัคซีนอีกครั้งแล้วค่อยทำการปล่อยออกมาใช้ชีวิตตามปกติและที่สำคัญควรต้องทำวัคซีนเป็นประจำต่อเนื่องทุกปีในกรณีของคน ถ้าถูกสัตว์กัดหรือเลียบริเวณที่เป็นบาดแผลหรือเยื่อเมือกต้องรีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาและพิจารณาว่าต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือได้รับ hyperimmune serum หรือไม่และหากเป็นไปได้ควรกักบริเวณและสังเกตอาการของสัตว์ตัวที่สงสัยไว้ด้วย
ความเข้าใจผิดที่อันตราย
“โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน” เป็นความเข้าใจที่ผิด เชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาวแต่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู
“สัตว์ที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านไม่จำเป็นต้องทำวัคซีน” เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวมีโอกาสติดเชื้อและก็อาจมีสัตว์ที่ติดเชื้อเข้ามาในบริเวณบ้านของเราและกัดสัตว์เลี้ยงของเราได้ โดยที่เราอาจจะไม่ทราบจึงควรทำวัคซีนพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงทุกตัวเป็นประจำทุกปีและเพื่อผลในการกระตุ้นภูมิที่ดีที่สุด ควรได้รับวัคซีนในขณะที่ร่างกายแข็งแรงด้วย
“ฉีดวัคซีนแล้วป้องกันโรคได้เลย 100% ” เป็นความเข้าที่ผิดเพราะวัคซีนคือเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ไม่ก่อโรคฉีดเข้าไปให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ขึ้นไปจึงจะได้ภูมิคุ้มกันที่เต็มที่ และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายด้วยถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจเกิดการสร้างภูมิได้ไม่เต็มที่ดังนั้นถึงแม้ทำวัคซีนแล้วก็ยังควรต้องระมัดระวังการสัมผัสกับสัตว์แปลกหน้าด้วย
ทีมสัตวแพทย์
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
