Menu Close

รู้จักโรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye) โรคต่อมหนังตาที่สามโผล่ยื่นในสุนัข

คนเลี้ยงสุนัขเคยสังเกตตาน้องหมาของตัวเองกันไหมว่ามีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า โรคเกี่ยวกับตาในสุนัขเกิดขึ้นได้เยอะมาก แต่ครั้งนี้เราอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับ “โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry Eye)” หรือ “โรคต่อมหนังตาที่สามโผล่ยื่นในสุนัข” โรคที่สุนัขจะมีก้อนเนื้อบวมแดงบริเวณหัวตา และต้องมาทำการรักษากับสัตวแพทย์เท่านั้น หากปล่อยไว้ก้อนเนื้อนี้จะไม่หายเอง รบกวนการใช้ชีวิตของน้องหมาสุด ๆ มาทำความรู้จักโรคนี้กัน

หนังตาที่สามคืออะไร?

โรคต่อมหนังตาที่สามโผล่ยื่นในสุนัข สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีลูกกลม ๆ สีชมพูยื่นออกมาบริเวณหัวตาคล้ายลูกเชอร์รี่ จึงถูกเรียกว่า โรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye) เจ้าลูกกลม ๆ ที่โผล่มานี้จะอยู่ที่หนังตาที่สามบริเวณหัวตาของสุนัข ซึ่งตามปกติจะอยู่ที่ฐานกระดูกอ่อนและยึดไว้โดยเนื้อเยื่อหลังตาที่สามตำแหน่งใกล้กับกระดูกเบ้าตา เชอร์รี่อายสามารถพบได้ที่ตาข้างเดียวหรือตาทั้งสองข้าง บางครั้งพบการอักเสบและการระคายเคืองร่วมด้วย

สาเหตุของโรคตาเชอร์รี่อาย

โรคนี้เกิดจากการยึดของเนื้อเยื่อไม่ดี ซึ่งอาจเกิดแต่กำเนิด แต่จะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่นั้นปัจจุบันยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด เพราะเป็นลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างภายนอก แต่อุบัติเหตุและการอักเสบก็เป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้โรคเชอร์รี่อายพบได้กับสุนัขทุกสายพันธุ์ทุกช่วงอายุ แต่พบมากในลูกสุนัขจนถึงอายุ 2 ปี และพบมากในสุนัขสายพันธุ์ Cocker Spaniels, Bulldogs, Beagles, Bloodhounds,Lhasa Apsos,ShihTzu, Mastiffs, Shar-peis, Pekingese, Boston terriers, St.Bernards

การวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะตรวจดูและหาสาเหตุของโรค ซึ่งการโผล่ยื่นของต่อมหนังตาที่สามนี้อาจเกิดจากการม้วนของกระดูกอ่อนที่หนังตาที่สาม ความผิดปกติของเซลส์เนื้อเยื่อหนังตาที่สาม หรือการปลิ้นของไขมันที่หนังตาที่สามก็ได้

การรักษา

โรคเชอร์รี่อายอาจจะรักษาทางยาโดยใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาเพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับการนวดดันต่อมกลับเข้าไปก่อน ซึ่งมักจะดันกลับเข้าไปได้ชั่วคราว แต่ถ้าต่อมไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ สัตวแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อดันต่อมกลับเข้าไปแล้วเย็บเก็บไว้ แต่การผ่าตัดแบบนี้มีข้อเสียคือจะทำให้เกิดภาวะตาแห้ง จากรายงานพบว่า 85 % ของสุนัขหลังผ่าตัดจะเกิดภาวะตาแห้งถาวร เนื่องจากต่อมดังกล่าวเป็นแหล่งสร้างน้ำตาหลัก 30-57 % ของปริมาณน้ำตาชนิดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขพันธุ์ที่เสี่ยงกับโรคตาแห้ง (KCS) เช่น สุนัขพันธุ์ Cocker Spaniels, Bulldogs, Beagles, Bloodhounds และ Shih Tzu สัตวแพทย์จึงไม่แนะนำวิธีผ่าตัด แต่จะพิจารณาเฉพาะในกรณีที่อาการเป็นอย่างรุนแรงและไม่สามารถดันกลับไปได้

การดูแลและป้องกัน

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การดูแลไม่ให้ตาเกิดการอักเสบ ระคายเคือง อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้

เมื่อสุนัขเป็นโรคเชอร์รี่อาย แล้วหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการอักเสบของต่อมมากขึ้น มีอาการระคายเคือง มีขี้ตา ตาแห้ง และหากสุนัขเกาตาจะทำให้เกิดแผลที่กระจกตาตามมาได้ ดังนั้นเจ้าของจึงควรสังเกตอาการน้อง ๆ กันด้วยนะคะ