สัตว์และคนมีผิวหนังเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ปกคลุมร่างกาย แต่จะทำอย่างไรหากผิวหนังเหล่านี้เกิดโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับเรา รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่เรารัก
“โรคผิวหนัง” สามารถพบได้บ่อยในน้องหมาน้องแมว สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการคัน ขนร่วง ผิวหนังแดง หรือมีสะเก็ด ฯลฯ โดยสาเหตุของโรคผิวหนังอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรือแบคทีเรีย แถมสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วย แม้ดูภายนอกจะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว ปล่อยไว้นานไม่ดีแน่นอน สำหรับเจ้าของหลายคนที่สงสัยว่าการที่สุนัขและแมวของเรามีอาการคัน ขนร่วง เป็นเพราะเชื้อราหรือเปล่า? ถ้าเป็นแล้วจะรักษาหรือดูแลอย่างไรได้บ้าง ลองมาทําความรู้จักเกี่ยวกับเชื้อราในสุนัขและแมวกัน
สาเหตุของโรคเชื้อรา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ คือ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงมักพบการติดเชื้อราในกลุ่มสัตว์ที่อายุน้อยหรือสัตว์เลี้ยงสูงอายุที่ภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รวมไปถึงถ้าสภาพแวดล้อมที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงมีความชื้นสูงหรือชั้นผิวหนังได้รับบาดแผลก็จะทำให้ติดเชื้อราได้เช่นกัน
โรคเชื้อรามักเกิดขึ้นที่บริเวณผิวหนัง เส้นผม และเล็บของสัตว์เลี้ยง โดยส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่ม Microsporum Trichophyton และ Epidermophyton Genus ในสุนัขมักพบว่าติดเชื้อ Microsporum Canis มากที่สุด รองลงมาเป็น Microsporum Gypseum และ Trichophyton Mentagrophytes ซึ่งเชื้อรานี้ติดจากสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น หนู หนูตะเภา หรือกระต่าย ส่วนแมวมักเกิดจากการติดเชื้อ Microsporum Canis ถึง 90 %
อาการโรคเชื้อราในสุนัขและแมว
อาการที่พบบ่อยคือเชื้อราจะทำลายเส้นขนและรูขุมขนของสุนัขและแมว ทำให้เส้นขนอ่อนแอ หลุดร่วงได้ง่าย ในบางตัวอาจมีอาการขนร่วงเป็นวงและมีสะเก็ดร่วมด้วย แต่อาการคันจะพบได้ในกรณีที่ชั้นผิวหนังของน้องหมาน้องแมวถูกทำลายจนอักเสบ ทำให้มีการติดเชื้ออย่างอื่นแทรกซ้อนและกระตุ้นให้เกิดอาการคันขึ้นมา และที่ต้องระวังคือ เชื้อราสามารถติดต่อสู่คนและสัตว์ได้ ผ่านทางการสัมผัสตัวสัตว์โดยตรงหรือผ่านทางสิ่งแวดล้อม ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 1-3 สัปดาห์ เชื้อราจะเติบโตในชั้นขนและผิวหนัง และพัฒนาให้เกิดโรคขึ้นมา
วิธีการวินิจฉัยโรค
1.ถอนขนเพื่อส่องตรวจดูสปอร์ของเชื้อรา
2.ใช้โคมไฟ Wood lamp ส่องตรงบริเวณรอยโรค หากมีสีเขียวสะท้อนแสงรอบวงรอยโรคหรือสะเก็ด แปลว่ามีโอกาสเป็นเชื้อรา แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้คือจะตรวจได้เฉพาะเชื้อราประเภท Microsporum Canis และมีความแม่นยำไม่สูงนัก
3.เพาะเชื้อรา สัตวแพทย์จะทำการเก็บขนรอบวงไปเพาะเชื้อเป็นเวลา 7-21 วัน ถ้าเป็นเชื้อรา อาหารเพาะเชื้อจะทำการเปลี่ยนสีและมีโคโลนีสีขาวเกิดขึ้น
การรักษาเชื้อราในสุนัขและแมว
1.รับประทานยากลุ่มต้านเชื้อรา เช่น Terbinafine Itraconazole หรือ Fluconazole เป็นต้น
2.รักษาด้วยยาแบบจุ่มหรือทาที่ผิว เช่น lime Sulfur เหมาะกับสัตว์เลี้ยงที่อายุน้อยยังป้อนยาไม่ได้ หรือในลูกแมวอายุน้อยไม่พร้อมที่จะรับประทานยากลุ่มยาต้านเชื้อรา
3.อาบน้ำด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ Miconazole Ketoconazole หรือ 2% Chlorhexidine จะช่วยลดจำนวนสปอร์ของเชื้อรา แต่ให้ผลการรักษาได้แบบชั่วคราว
4.การตัดขน เมื่อสัตว์เลี้ยงติดเชื้อราหลายคนมักจะอยากให้น้อง ๆ สัตว์เลี้ยงตัดขนสั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเสมอไป แต่อาจตัดขนสั้นเพื่อให้การทายาภายนอกออกฤทธิ์ได้ดี ข้อสำคัญคือต้องระวังขนที่ตัดออกอาจเป็นตัวกระจายเชื้อราได้ เมื่อจำเป็นต้องตัดขนจึงควรเลือกช่างตัดขนที่มีฝีมือเพื่อลดโอกาสที่ผิวหนังอักเสบหรือการกระจายโรค
หลังจากรักษาด้วยวิธีข้างต้น สัตวแพทย์จะทำการติดตามผลการรักษาโดยดูจากรอยโรคที่ลดลง และเพาะเชื้อราซ้ำจนกว่าไม่พบเชื้อรา 1- 2 ครั้งห่างกัน 2-4 สัปดาห์
โรคเชื้อราเป็นโรคที่สามารถติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยง รวมถึงติดต่อมาสู่คนได้ด้วย ดังนั้นเจ้าของจึงควรใส่ใจเมื่อพบอาการของโรค ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาร่วมกับการดูแลของเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การดูแลเรื่องความสะอาดของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทําให้สุนัขและแมวของเราหายจากเชื้อราได้เร็วยิ่งขึ้นนะคะ
อ่านบทความอื่น ๆ HOW TO อาบน้ำน้องหมาอย่างไรให้โปรเหมือนไปที่ร้าน
———————————————————————————–
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ.ศรณภัทร ปิยะวรศักดิ์ (หมอเสม) สัตวแพทย์ประจำแผนกโรคผิวหนังและแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
A colour handbook of skin diseases of the dog and cat : timnuttall, Richard g. Harvey , Patrick J. mckeecer : manson publishing : second edition
สุนัขเป็นเชื้อราเกิดจากอะไร. https://blog.olimogoodskin.com/สุนัขเป็นเชื้อราเกิดจา/