Menu Close

ทำความรู้จัก โรคเอดส์แมว โรคในแมวที่รักษาไม่หายขาดแต่ป้องกันได้

หากโรคเอดส์ถือเป็นโรคร้ายแรงสำหรับมนุษย์ โรคเอดส์แมว (FIV) หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว คงถือเป็นฝันร้ายสำหรับน้องแมวไม่ต่างกัน เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ส่งผลทำให้แมวเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ เทียบเท่ากับแมวปกติได้ ไม่ต่างกับโรคเอดส์ในคน แต่หากเจ้าของมีการป้องกันและดูแลอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่น้องแมวจะติดโรคนี้ได้

โรคเอดส์แมวส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพของแมวแค่ไหน โรคนี้มีโอกาสติดต่อสู่คนเลี้ยงได้หรือไม่ ลองมาทำความรู้จักโรคนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับแมวของเรากัน

โรคเอดส์แมว เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Immunodeficiency Virus (FIV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อ HIV ในคนและโรคลิวคีเมียในแมว ถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อจากแมวตัวหนึ่งไปยังแมวอีกตัวหนึ่งได้ โดยการติดต่อมักเกิดจากการที่แมวกัดหรือข่วนกันจนมีบาดแผลและเกิดการสัมผัสน้ำลายหรือเลือดของแมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แมว ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบมากในแมวเพศผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ยังไม่ทำหมัน และเลี้ยงแบบปล่อย เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสเชื้อมากกว่า ในขณะที่แมวที่ถูกเลี้ยงภายในบ้านจะมีโอกาสพบการติดเชื้อนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นแมวที่ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านหรือชอบกัดกับแมวตัวอื่นจึงมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ ส่วนการติดต่อทางอื่น เช่น การติดต่อจากแม่สู่ลูก การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอัตราการเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่พันธุกรรมมีผลต่อความรุนแรงและการพัฒนาของโรค และที่โชคดีคือโรคเอดส์แมวไม่ติดต่อสู่คน เพราะสัตว์ที่จะติดไวรัส FIV ได้มีเพียงแค่สัตว์ตระกูลแมวเท่านั้น ทำให้ผู้เลี้ยงปลอดภัยหากแมวเป็นโรคนี้ 

อาการของโรคเอดส์แมว

อาการทางภายนอกของโรคที่เจ้าของแมวสามารถสังเกตได้ คือ 

  1. มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม
  2. 25-50% ของแมวที่ติดเชื้อมีการอักเสบของเหงือกและเยื่อเมือกในช่องปาก
  3. 30% ของแมวที่ติดเชื้อมักมีการอักเสบของจมูก เยื่อตา และกระจกตา 
  4. 10-20% ของแมวที่ติดเชื้อ มักมีอาการถ่ายเหลวต่อเนื่อง
  5. แมวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเป็นอาการทางระบบประสาท เช่น กระวนกระวาย เดินวนไปมา ก้าวร้าว เป็นต้น มีความบกพร่องทางความสามารถในการมองเห็นและการได้ยิน มีความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณขาและฝ่าเท้า 
  6. แมวบางตัวมีการอักเสบที่ส่วนหน้าของลูกตารวมถึงม่านตา อาจรุนแรงถึงขั้นความดันในลูกตาสูงผิดปกติจนทำให้เกิดต้อหินได้
  7. ต่อมน้ำเหลืองมีการขยายขนาด
  8. มีอาการของโรคไตเรื้อรัง
  9. ในระยะยาวอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ผิวหนัง ตา กระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินหายใจส่วนต้น

อาการของโรคเอดส์แมวมักขึ้นอยู่กับอายุและภูมิคุ้มกันของแมวแต่ละตัว แมวบางตัวอาจไม่มีอาการแสดงออกมาเลยเป็นปีจนทำให้เจ้าของคิดว่าแมวสุขภาพปกติ ไม่ได้เจ็บป่วย บางตัวแสดงอาการเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อไหร่ที่โรคนี้ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแมวจนลดต่ำลงก็ส่งผลให้แมวติดเชื้ออื่น ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ง่ายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ จนแมวร่างกายแย่และเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเจ้าของจึงควรพาแมวที่ป่วยไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซักประวัติเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ รวมถึงตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยว่าแมวของตนมีแนวโน้มจะเป็นโรคเอดส์แมวหรือไม่ 

แนวทางการรักษา  

โรคเอดส์แมวไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาของสัตวแพทย์จึงเน้นไปที่รักษาตามอาการและการจัดการที่เหมาะสมเพื่อชะลอความรุนแรงของโรค ลดภาวะความเครียด และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนในแมว 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคเอดส์แมวจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100% แต่แมวที่ติดเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเป็นเวลานานหลายปี หากมีการดูแลและจัดการอย่างเหมาะสม คือ 

  1. เลี้ยงแมวในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความเครียด 
  2. ทำหมันและเลี้ยงไว้ในบ้าน (ระบบปิด) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่แมวนอกบ้าน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ จากแมวตัวอื่นด้วย
  3. ให้อาหารที่มีคุณภาพดี เพราะแมวป่วยควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับแมวป่วยมากมายหลายชนิด เจ้าของสามารถเลือกให้เหมาะกับแมวของตนได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เพื่อลดโอกาสการเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิตในอาหาร
  4. ควรพบสัตวแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น และตรวจสุขภาพเหงือก ช่องปาก ตา ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลือง รวมถึงการตรวจเลือดและปัสสาวะทุกปี

การป้องกัน

เราสามารถป้องกันไม่ให้แมวเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์แมวได้หากคอยดูแลให้แมวสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี พาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และเนื่องจากโรคเอดส์แมวเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเท่านั้น เจ้าของจึงอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 

  1. ควรเลี้ยงแมวภายในบ้านหรือหลีกเลี่ยงการพบเจอกับแมวที่ติดเชื้อ
  2. หากในบ้านมีทั้งแมวติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ควรเลี้ยงแยกกัน
  3. ควรพาแมวในบ้านไปพบสัตวแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจว่ามีเชื้อไวรัส FIV หรือไม่
  4. หากมีการนำแมวเข้ามาใหม่ ในสิ่งแวดล้อมที่เคยมีแมวติดเชื้ออยู่ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนชามอาหาร ชามน้ำ ที่นอน และของเล่นก่อนที่จะนำแมวเข้ามา และควรทำวัคซีนให้เรียบร้อย
  5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ไม่ 100% และไม่ใช่วัคซีนหลักในแมว ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ

แหล่งอ้างอิง

AlySemigran. (2017).  Feline Immunodeficiency Virus in Cats. Retrieved Aug 1, 2017, from http://www.petmd.com/cat/conditions/infectious-parasitic/c_ct_feline_immunodeficiency_virus_infection

Bolttech. โรคเอดส์แมวคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด?. https://bit.ly/3A2Q8OI 

Chula Radio Plus. โรคเอดส์แมว ไม่ติดคน แต่รักษาไม่หายขาด. https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=9130