Menu Close

ไข้หัดสุนัข รักษาอย่างไรไม่ให้อันตรายถึงชีวิต

ไข้หัดสุนัข หลายคนอาจได้ยินชื่อโรคนี้มาบ้างแต่ยังไม่คุ้นเคยกับอาการของโรค เพราะอาการของไข้หัดสุนัขเบื้องต้นก็เหมือนกับการที่น้องหมาเป็นไข้หวัดธรรมดา คือมีอาการซึม อ่อนแรง ไม่กินอาหาร แต่บอกเลยว่าไข้หัดอันตรายกว่ามาก หากสุนัขไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายกับน้องถึงขั้นเสียชีวิต เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันว่าหากสุนัขติดแล้วควรรักษาอย่างไร แล้วมีวิธีไหนที่จะป้องกันไม่ให้สุนัขของเราติดโรคหัดได้

ไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงของสุนัข และเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Morbillivirus ซึ่งเป็น RNA virus ทำให้เกิดโรคได้ในสุนัขและสัตว์อื่นที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับสุนัข เช่น สุนัขป่า มิ้งค์ สกั๊งค์ แรคคูน และเฟอร์เร็ท ซึ่งสัตว์เหล่านี้มักจะเป็นตัวพาหะนำโรคมาสู่สุนัขที่เราเลี้ยงกันภายในบ้าน

อาการของโรค 

1.มีไข้สูง ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร พบได้ในระยะแรกที่มีการฟักตัวของโรค 

2.ระบบทางเดินหายใจ พบน้ำมูก เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ มีขี้ตา น้ำตาไหล ไอ จาม หายใจลำบาก ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน น้ำมูกน้ำตาที่พบก็จะมีลักษณะขุ่น 

3.ระบบทางเดินอาหาร มักจะพบว่าสุนัขอาเจียนและท้องเสีย แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนการติดเชื้อลำไส้อักเสบ 

4.ระบบผิวหนัง สุนัขจะมีตุ่มหนองกระจายตามตัว โดยจะพบมากบริเวณใต้ท้อง นอกจากนั้นในสุนัขที่มีการติดเชื้อแบบเรื้อรังจะพบว่าผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าจะหนาตัวขึ้นมากกว่าปกติ 

5.ระบบประสาท เมื่อเชื้อไวรัสกระจายเข้าสู่ก้านสมอง สมอง และไขสันหลัง จะทำให้สุนัขไม่รู้สึกตัว มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ปากกระดุก หัวกระตุก ชัก ร้องครวญคราง  ควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองไม่ได้ อาการที่พบบ่อย ๆ คือสุนัขจะเกร็งและงับปาก

การรักษา 

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดใดโดยตรงที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หัดสุนัขได้ผล การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนี้ 

1.ให้ยาปฎิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน 

2.ให้น้ำเกลือและสารอาหารเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและสารอาหาร 

3.ให้ออกซิเจนในกรณีที่สุนัขมีอาการหายใจลำบากหรือขาดออกซิเจนเนื่องจากเกิดอาการปอดบวม 

4.ให้ยาสงบประสาทหรือยาแก้ชักในกรณีที่สุนัขมีอาการทางประสาทจากการที่เชื้อไวรัสเข้าสู่สมอง

การติดเชื้อ 

การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไปเป็นการติดต่อของเชื้อไข้หัดสุนัขได้ง่ายที่สุด รวมถึงการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสิ่งคัดหลั่งอื่น ๆ โดยตรงก็สามารถติดต่อได้ ยังไม่มีรายงานว่าไข้หัดสุนัขสามารถติดต่อได้ผ่านการกินอาหาร โดยหลังจากสุนัขรับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว เชื้อไวรัสจะเข้าไปฟักตัวอยู่ที่ทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น 

ไข้หัดสุนัขสามารถพบอาการได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ทั้งในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และระบบผิวหนัง โดยการเกิดโรคมักจะรุนแรง อัตราการตายสูง โดยเฉพาะในลูกสุนัขอายุระหว่าง 6-12 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความไวต่อไวรัสชนิดนี้

ระยะฟักตัวของโรคในสุนัขจะเฉลี่ยประมาณ 7-14 วัน โดยในระยะนี้เราอาจไม่พบความผิดปกติ แต่หลังจากนั้นจะมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปทั่วร่างกายน้องหมา ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบน้ำเหลืองและกดภูมิคุ้มกันของร่างกายสุนัข ทำให้ร่างกายน้องอ่อนแอ ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย รวมทั้งตัวไวรัสจะเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้สุนัขป่วยและติดเชื้อได้หลาย ๆ ระบบร่วมกัน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง และระบบประสาท

การวินิจฉัยโรค

1.การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรงในกระแสเลือด น้ำมูก น้ำตา และสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ วิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันและมีค่าใช้จ่ายสูง 

2.การตรวจเลือด เพื่อดูภาวะติดเชื้อไวรัสในกระแสเลือด แต่วิธีนี้เป็นการตรวจที่ไม่เฉพาะเจาะจงและอ่านผลเลือดได้ไม่แน่นอน 

3.การตรวจทางเซลล์วิทยา แต่มีความแม่นยำน้อยและไม่นิยมในปัจจุบัน 

4.การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ของร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัส แต่การแปรผลอาจจะผิดพลาด ถ้าหากว่าสุนัขมีภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดมาจากแม่หรือได้รับภูมิคุ้มกันจากการทำวัคซีน

การป้องกัน 

1.แยกเลี้ยงสุนัขที่ไม่ทราบประวัติวัคซีนประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนนำมาเข้ากลุ่มกับเพื่อนสุนัขตัวอื่น 

2.ฉีดวัคซีนลูกสุนัข โดยลูกสุนัขในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หัดสุนัขสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 ถึง 1/2 เดือน ส่วนลูกสุนัขโดยทั่วไปจะฉีดวัคซีนได้ในอายุ 2 เดือน หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำเพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ 

ใครที่เลี้ยงสุนัขควรพาน้องหมามาฉีดวัคซีนไข้หัดสุนัขซ้ำทุก ๆ ปี นะคะ โดยในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนานำวัคซีนไข้หัดสุนัขไปร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ โรคฉี่หนู หวัด หลอดลมอักเสบ และพิษสุนัขบ้า

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม และแผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน