Menu Close

ภาวะเบาหวานเป็นพิษ หรือ Diabetic ketoacidosis (DKA) ในสุนัข

ภาวะเบาหวานเป็นพิษ หรือ Diabetic Ketoacidosis (DKA) ในสุนัข
เป็นความผิดปกติของระบบเมตาบอลิสมที่สามารถเกิดได้กับสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน (diabetes mellitus; DM) โดยภาวะ DKA

   จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายขาดอินซูลินหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้ไม่สามารถนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) และเมื่อร่างกายไม่สามารถใช้กลูโคสเป็นแหล่งพลังงานได้ 

   จะมีการสลายเซลล์ไขมัน (adipocytes) ให้เป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acids; FFAs) เข้าสู่กระแสเลือดก่อนจะถูกส่งเข้าสู่ตับเพื่อเปลี่ยนให้เป็นไตรกลีเซอไรด์และสารคีโตน (ketone
bodies; ประกอบด้วย acetone, acetoacetic acid และ ß-hydroxybutyric acid) ซึ่งหากมีสารคีโตนอยู่ในกระแสเลือดเป็นปริมาณมาก จะมีผลทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (ketoacidosis) เกิดขึ้น

   ภาวะที่มีกลูโคสในเลือดสูงจนเกิน renal threshold จะทำให้สัตว์ปัสสาวะมากขึ้นเนื่องจากภาวะ osmotic diuresis และเมื่อร่วมกับการอาเจียน หรือท้องเสีย จึงทำให้สัตว์ที่มีภาวะ DKA มีภาวะแห้งน้ำรุนแรง ส่งผลให้อัตราการกรองที่ไต (glomerular filtration rate; GFR) ลดลง ซึ่งจะทำให้ทั้งกลูโคสและคีโตนคั่งค้างอยู่ในร่างกายมากขึ้นไปอีก
   รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะไตวายได้ ในขณะเดียวกันการที่มีสารคีโตนในกระแสเลือดมากขึ้นจนเกิน renal threshold จะทำให้มีสารคีโตนออกไปกับปัสสาวะมากขึ้นและสารคีโตนซึ่งมีประจุเป็นลบนี้ ก็จะดึงดูดอิเล็กโทรไลต์อื่นๆที่มีประจุเป็นบวก เช่น โซเดียม โพแทสเซียมให้ถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้เกิดการเสียสมดุลอิเล็กโทรไลต์เหล่านี้ตามมาด้วย

   หลักการของการรักษาภาวะ Diabetic ketoacidosis (DKA) มี 4 ข้อสําคัญ ได้แก่
1. แก้ไขภาวะขาดน้ำ (correct dehydration and restore intravascular volume)
2. ควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดให้กลับเป็นปกติ (Normalize blood glucose level)
โดยจะเริ่มหลังจากการให้ fluid therapy เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำไประยะหนึ่ง โดย insulin จะช่วยยับยั้งกระบวนการ ketogenesis
3. แก้ไขสมดุล กรดเบสและอิเล็กโทรไลต์ที่ผิดปกติ (Correct electrolyte and acid-base abnormalities)
4. ค้นหาและกําจัดปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค (Identify and remove any precipitating factors) โรคหรือความผิดปกติที่มักพบในสัตว์ที่เป็น DKA ได้แก่ not enough insulin, pancreatitis, bacterial infection, urinary tract infection, pneumonia หรือ renal failure เป็นต้น

Edward C et al. 2015. Diabetic ketoacidosis. Canine and feline endocrinology 4th edition. , p315-347.
Ettinger S., Feldman, E., Cote, E., 2017. Diabetic ketoacidosis. Textbook of Veterinary Internal Medicine 8th Edition, p1574-1583.
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก)
แผนกอายุรกรรม, แผนกอัลตร้าซาวด์