โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด
โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด ถึงเวลาแล้วที่เราควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้เรารับมือได้อย่างปลอดภัยและช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้
เชื้อไวรัสตัวต้นเหตุ
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ Rabies virus มีความรุนแรงมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงคนด้วย
โดยเชื้อไวรัสตัวนี้ถูกทำลายได้โดย ความร้อน แสงแดด ความแห้ง นอกจากนี้ยังถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำสบู่
และสารเชื้อทั่วๆ ไป เช่น แอลกอฮอล์ แต่ถ้าเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเพียงพอ จะเข้าไปที่
ระบบประสาท ทำให้มีอาการทางประสาทและเสียชีวิตได้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดต้องระวัง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก ม้า
ปศุสัตว์เช่น โค กระบือ หรือแม้กระทั่งในสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั้งค์ สุนัขจิ้งจอก และเฟอร์เรท เป็นต้น
นอกจากนี้มีรายงานว่าค้างคาวเป็นตัวอมโรคที่สำคัญของโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย และโรคพิษสุนัขบ้า
สามารถพบได้ทั่วโลก
น้ำลาย ทางแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้โดยตรงจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด ข่วน หรือ เลีย ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลาย
เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกซึ่งการสามารถแพร่เชื้อทางน้ำลายเกิดได้ตั้งแต่ 1-7 วันก่อนที่สัตว์ที่ป่วย
จะแสดงอาการจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อไวรัสระหว่างสัตว์โดยการกินนมที่
ไม่พาสเจอร์ไรส์ แต่เชื้อไวรัสนี้จะไม่แพร่กระจายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ
อาการทางประสาทรุนแรงถึงเสียชีวิต
จากการเก็บข้อมูลระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการของโรคอาจรวดเร็วภายใน 4 วัน
หรือนานได้ถึง 1 ปี แต่ส่วนมากมักจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์ – 4 เดือน โดยอาการแบ่งเป็น 3 ระยะ
1.ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2 – 3 วัน โดยจะมีอารมณ์และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สุนัขที่ชอบคลุกคลีกับเจ้าของ จะปลีกตัวออกไปหลบซุกตัวเงียบๆ ตัวที่เคยขลาดกลัวคนก็จะกลับมาคลอเคลีย เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ การตอบสนองต่อแสงของตาลดลง กินข้าวกินน้ำน้อยลง ลักษณะการเคี้ยวหรือกลืนผิดไป
2.ระยะตื่นเต้น คือ เริ่มมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะทุกสิ่งไม่เลือก ถ้ากักขังหรือล่ามไว้ จะกัดกรงหรือโซ่จนเลือดกลบปาก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะเปลี่ยนไปตัวแข็งเกร็ง
3.ระยะอัมพาต คางห้อยตก ไม่สามารถบังคับใช้งานลิ้นได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล อาจแสดงอาการขย้อนคล้ายมีอะไรอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ ล้มลงแล้วลุกไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด


การฉีดวัคซีนป้องกันสำคัญที่สุด
การป้องกันโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุดและสำคัญมากเนื่องจากการรักษาในคนรวมถึงในสัตว์ที่แสดงอาการของโรคแล้ว
ยังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย นั่นคือเมื่อแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตเท่านั้น แต่การป้องกันโรคนี้ทำได้ไม่ยากนัก
คือการทำวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง โดยควรพาสุนัขหรือแมวไปทำวัคซีนพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกระตุ้นอีกครั้ง
ที่อายุ 4 เดือน จากนั้นกระตุ้นปีละครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนพิษสุนัขบ้าว่าสามารถป้องกัน
โรคได้นานถึง 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดจึงแนะนำให้ทำวัคซีนทุกปี สำหรับคน
ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และ เป็นบุคคลที่ต้องสัมผัสกับสัตว์อยู่เสมอ ก็ควรทำวัคซีนป้องกันไว้เช่นกัน
นอกจากนั้นไม่ควรสัมผัส จับ หรือให้อาหารสัตว์ที่ไม่รู้ประวัติและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
หากโดนกัด ข่วน เลีย สัมผัสน้ำลาย อย่านิ่งนอนใจ พบหมอทันทีเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราถูกสัตว์อื่นกัดควรรีบพาไป
พบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาแผล และพิจารณาแนวทางในการทำวัคซีน กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเรามีการทำวัคซีน
ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกสัตว์อื่นที่สงสัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้ากัด ในปัจจุบันนี้แนะนำให้ทำวัคซีน
ซ้ำอีกครั้งทันที และ ทำการกักตัวสัตว์เลี้ยงของเราแยกจากตัวอื่นไว้เป็นเวลา 45 วัน โดยให้อาหารและน้ำตามปกติ
เพื่อสังเกตว่ามีการแสดงอาการของโรคหรือไม่ ถ้าไม่มี ให้ปล่อยออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ และทำวัคซีนต่อเนื่อง
เป็นประจำทุกปี
กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเราไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย หรือได้รับวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรือประวัติการทำวัคซีนไม่แน่ชัด
ในกรณีนี้ ตามข้อตกลงสากลให้ทำการ เมตตาฆาต(Euthanasia) หรือการทำการฉีดยาให้เสียชีวิตทันที หรือหากเจ้า
ของไม่ประสงค์จะทำ จะต้องทำการกักตัวสุนัขไว้เป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ฉีดวัคซีนทันทีหลังจากถูกกัด และคอยสังเกต
อาการ ถ้ามีการแสดงอาการของโรค ให้ทำการเมตตาฆาตทันทีแต่ถ้าไม่มีการแสดงอาการใดๆ 1 เดือนก่อนปล่อยตัวให้
ทำการฉีดวัคซีนอีกครั้งแล้วค่อยทำการปล่อยออกมาใช้ชีวิตตามปกติและที่สำคัญควรต้องทำวัคซีนเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี
ในกรณีของคน ถ้าถูกสัตว์กัดหรือเลียบริเวณที่เป็นบาดแผลหรือเยื่อเมือกต้องรีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่
ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาและพิจารณาว่าต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือได้รับ hyperimmune serum หรือไม่
และหากเป็นไปได้ควรกักบริเวณและสังเกตอาการของสัตว์ตัวที่สงสัยไว้ด้วย
ความเข้าใจผิดที่อันตราย
* “โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน” เป็นความเข้าใจที่ผิด เชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว
แต่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู
* “สัตว์ที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านไม่จำเป็นต้องทำวัคซีน” เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวมีโอกาสติดเชื้อ
และก็อาจมีสัตว์ที่ติดเชื้อเข้ามาในบริเวณบ้านของเราและกัดสัตว์เลี้ยงของเราได้ โดยที่เราอาจจะไม่ทราบ
จึงควรทำวัคซีนพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงทุกตัวเป็นประจำทุกปีและเพื่อผลในการกระตุ้นภูมิที่ดีที่สุด ควรได้รับวัคซีนในขณะ
ที่ร่างกายแข็งแรงด้วย
* “ฉีดวัคซีนแล้วป้องกันโรคได้เลย 100% ” เป็นความเข้าที่ผิดเพราะวัคซีนคือเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ไม่ก่อโรค
ฉีดเข้าไปให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ขึ้นไป
จึงจะได้ภูมิคุ้มกันที่เต็มที่ และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายด้วยถ้าร่างกายไม่แข็งแรง
ก็อาจเกิดการสร้างภูมิได้ไม่เต็มที่ดังนั้นถึงแม้ทำวัคซีนแล้วก็ยังควรต้องระมัดระวังการสัมผัสกับสัตว์แปลกหน้าด้วย
ทีมสัตวแพทย์
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
