อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นกับน้องหมาน้องแมวของเราได้เสมอ โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวที่ค่อนข้างจะซนและอยู่ไม่นิ่ง ซึ่งบาดแผลที่ได้รับแต่ละครั้งอาจจะเป็นแผลขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หรือเป็นแผลเล็กๆน้อยๆที่เจ้าของอย่างเราสามารถจัดการเองที่บ้านได้ เพื่อไม่ให้แผลของน้องหมาน้องแมวติดเชื้อหรืออักเสบมากขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่จะทำแผลให้น้องๆ เราลองมาสังเกตบาดแผลที่พบได้บ่อยแต่ละแบบเพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องกัน
1.แผลถลอก
เป็นลักษณะแผลตื้น ๆ ที่ความลึกจะอยู่แค่ชั้นหนังกำพร้าหรือผิวหนังส่วนบน อาจจะมีเลือดซึมได้เล็กน้อย มักจะเกิดจากการข่วน ขูด หรือเสียดสีบางอย่าง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาจจะใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดล้างบริเวณแผลเพื่อชะล้างเอาเศษสิ่งสกปรกออกจากบาดแผล หลังจากนั้นให้ใช้สบู่ฟอกแผลทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาดปริมาณมาก จากนั้นซับแผลให้แห้งแล้วแต้มเบตาดีนวันละครั้งโดยไม่ต้องปิดแผล
2.แผลฉีกขาด
เป็นลักษณะแผลที่ลึกขึ้นโดยจะเห็นเป็นลักษณะชั้นผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังมีการฉีกขาด อาจจะถึงชั้นใต้ผิวหนัง หรือชั้นกล้ามเนื้อ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แนะนำให้ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดปริมาณมากล้างบาดแผลเพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกจากแผล หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าก็อซหรือผ้าสะอาดกดห้ามเลือด ในกรณีที่เลือดออกเยอะ ควรพาน้อง ๆ มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะทำการล้างแผลชั้นลึกและสำรวจความเสียหาย เพื่อพิจารณาเย็บปิดแผลต่อไป
3.แผลเป็นรูลึก
เป็นแผลที่มีลักษณะปากแผลแคบ เป็นรูเล็ก แต่ตัวบาดแผลลึกผ่านชั้นผิวหนัง บาดแผลลักษณะนี้จะไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ด้วยตาเปล่า มีโอกาสมีความเสียหายค่อนข้างเยอะ และมักพบการติดเชื้อเป็นโพรงฝีหนองในกรณีที่ไม่ได้รับการล้างแผลอย่างถูกวิธีในช่วงแรก โดยบาดแผลเหล่านี้ที่พบบ่อยมักเกิดจากการโดนกัด โดนแทง โดนวัตถุมีคมทิ่ม
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แนะนำให้ใช้ผ้าก็อซหรือผ้าสะอาดกดห้ามเลือด ในกรณีที่เลือดออกเยอะควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากต้องมีการประเมินความเสียหายของแผลที่เกิดขึ้นโดยสัตวแพทย์ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดบาดแผลและความลึกของแผล
4.แผลฟกช้ำ
เป็นแผลปิด ที่ไม่ได้มีบาดแผลเปิดภายนอกที่ชั้นผิวหนัง อาจจะเป็นลักษณะมีรอยฟกช้ำบริเวณผิวหนัง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แนะนำให้ประคบเย็นในครั้งแรกประมาณ 15-30 นาที หลังจากนั้นอาจจะใช้ยาทาภายนอกสำหรับอาการฟกช้ำทาที่แผลวันละ 1-2 ครั้ง โดยที่ไม่ต้องนวด หากมีอาการบวม แดง อักเสบ หรือจับแล้วดูเจ็บมากกว่าปกติ แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์
อ่านบทความอื่น ๆ 8 สัญญาณที่บอกว่าสัตว์เลี้ยงของเรากำลังป่วย
ข้อมูลจาก
สพ.ญ.วิชญาพร อธิกานนท์ (หมอเอ้) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน