Menu Close

นิ่ว สาเหตุที่ทำให้น้องหมา-น้องแมวฉี่ไม่ออก

นิ่ว ปัญหาที่ทำให้น้องหมา-น้องแมวฉี่ไม่ออก (Urinary Stones)

    น้องหมาฉี่ไม่ออก น้องแมวเข้าห้องน้ำนานแต่ก็มีฉี่แค่นิดเดียว หรือบางครั้งก็ฉี่ออกมาแล้วสีเข้มจนมีเลือดปะปน ปัญหาพวกนี้อาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะของน้องๆที่มีตะกอนหรือผลึกแร่ธาตุสะสมอยู่ หรือที่เรารู้จักกันดีคือ นิ่ว นั่นเอง เดี๋ยววันนี้ทางโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันจะมาไขข้อข้องใจเรื่องนิ่วให้เจ้าของฟังกันว่านิ่วคืออะไรและจะรับมือกับสิ่งนี้ยังไงกัน

นิ่วคืออะไร?

    นิ่ว เกิดจากการสะสมของตะกอนแร่ธาตุจนเกิดเป็นก้อนนิ่ว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถเกิดได้ตั้งแต่บริเวณไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ และมากถึง 85% ของโรคนิ่วในสัตว์เลี้ยงจะพบได้ในกระเพาะปัสสาวะ โรคนี้พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงทั้งหมาและแมว

สาเหตุของโรคนิ่ว

   สาเหตุของการเกิดนิ่วนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

  1. อาหารและน้ำ – อาหารที่มีปริมาณแร่ธาตุสูงเกินไป เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วได้ ส่วนน้ำดื่ม หากน้องหมาหรือน้องแมวดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง เพิ่มโอกาสการตกผลึกของแร่ธาตุจนตกตะกอนกลายเป็นนิ่ว

     

  2. เพศ – เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดนิ่วได้ หากน้องหมาหรือน้องแมวเป็นตัวผู้ จะมีโอกาสเกิดภาวะอุดตันได้เพราะท่อปัสสาวะของเพศผู้จะแคบและยาวกว่าเพศเมียทำให้นิ่วติดค้างได้ง่าย แต่หากเป็นเพศเมียจะมีแนวโน้มเจอ นิ่วสตรูไวท์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

     

  3. พันธุกรรม – หมาและแมวบางสายพันธุ์มีแนวโน้มที่จะเป็นนิ่วได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจาก พันธุกรรม โครงสร้างร่างกาย และปัจจัยด้านพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น ดัลเมเชียน ชิห์สุ เปอร์เซีย บริติชชอร์ตแฮร์ และอื่นๆ

     

  4. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ – การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะจะทำให้ค่ากรด-ด่างในปัสสาวะเปลี่ยนแปลง และเมื่อปัสสาวะมีความด่างมากเกินไป จะทำให้ความสามารถในการละลายน้ำของแมกนีเซียมฟอสเฟตลดลง ทำให้กระตุ้นการเกิดนิ่วได้

     

  5. โรคประจำตัว – น้องหมาน้องแมวที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคตับ โรคไต หรือภาวะฮอร์โมนผิดปกติ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นนิ่วได้มากกว่าน้องหมาน้องแมวที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ

อาการที่พบเจอ

    หากน้องหมาน้องแมวแสดงสัญญาณเหล่านี้ น้องๆอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นนิ่วได้

  1. ฉี่บ่อยกว่าปกติและมีปริมาณน้อย
  2. ฉี่กะปริดกะปรอย
  3. มีเลือดปนอยู่กับฉี่
  4. เบ่งฉี่เป็นเวลานาน
  5. เลียอวัยวะเพศบ่อยครั้ง

    หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้นาน นิ่วอาจไปอุดตันที่ท่อปัสสาวะจนทำให้น้องปัสสาวะไม่ออก และเมื่อถึงจุดนั้นเจ้าของจำเป็นต้องพาน้องมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นอาจทำให้น้องเสียชีวิตได้

วิธีรักษา

    การรักษาโรคนิ่วนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่วที่น้องเป็นและจากการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ โดยจะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆด้วยกัน ได้แก่

  1. การผ่าตัด – เป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยการผ่าตัดจุดที่มีนิ่วอยู่และเอานิ่วที่อยู่ภายในออกมา เพื่อส่งตรวจชนิดของนิ่วที่พบ หลังจากการผ่าตัด น้องอาจมีเลือดปนกับปัสสาวะ 2-4 วันและต้องพักฟื้น 7-14 วัน

  2. การให้อาหารสูตรสลายนิ่ว – ในสัตว์เลี้ยงบางตัวที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือมีความเสี่ยงในการวางยาสลบ การให้อาหารสูตรสลายนิ่วก็เป็นอีกวิธีที่รักษาได้เหมือนกัน แต่ก็ได้ผลกับนิ่วบางชนิดเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องมีการวิเคราะห์ก่อนว่าชนิดของนิ่วที่น้องเป็นนั้น สามารถรักษาโดยการกินอาหารสูตรสลายนิ่วได้หรือไม่ 

การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้เวลาหลายเดือนและเจ้าของต้องดูแลน้องอย่างใกล้ชิด โดยการ

2.1 ให้น้องทานอาหารสูตรสลายนิ่วอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการให้อาหารร่วมอย่างอื่น

2.2 หมั่นสังเกตอาการของน้องเพราะน้องอาจมีอาการเบ่งปัสสาวะหรือเลือดปนปัสสาวะอยู่ได้ 

2.3 การควบคุมการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและปริมาณน้ำที่ควรจะได้รับอย่างเหมาะสม

วิธีดูแลหลังผ่าตัด

    หลังจากที่ผ่าตัดแล้ว เจ้าของจำเป็นต้องดูแลน้องๆอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดโอกาสเกิดนิ่วซ้ำ โดยการ:

  1. ให้น้องดื่มน้ำเยอะๆ
  2. ปรับอาหารเป็นสูตรป้องกันนิ่ว
  3. ดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาด
  4. ห้ามให้สุนัขหรือแมวเลียแผลบริเวณผ่าตัด โดยอาจสวมใส่อุปกรณ์กันเลีย เช่น Collar 
  5. ทานยาปฏิชีวนะและยาลดอักเสบตามที่สัตวแพทย์จ่ายยามาให้
  6. หลีกเลี่ยงไม่ให่น้องกระโดด วิ่ง หรือเล่นแรง 10-14 วัน

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ซึมลง ไม่กินอาหาร ปัสสาวะลำบาก แสดงอาการเบ่งปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน หรือบางครั้งอาจพบนิ่วคล้ายเม็ดทรายปะปนออกมาในปัสสาวะ ให้รีบพบสัตวแพทย์ทันที

วิธีป้องกัน

    โรคนิ่วสามารถป้องกันได้โดยการดูแลอาหาร น้ำ และพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม เจ้าของสามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในสัตว์เลี้ยงของท่านได้

  1. ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่มากขึ้น 
  2. ควบคุมอาหารให้มีปริมาณที่เหมาะสมและเลือกอาหารที่ความเหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพ
  3. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  4. ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย
  5. กระตุ้นพฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะ ด้วยการพาออกไปขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ

    โรคนิ่วนับว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสุนัขและแมว ดังนั้นการให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำมาก ๆ ควบคุมอาหารให้เหมาะสม และตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วได้ แต่หากน้องๆมีอาการผิดปกติที่กล่าวไว้ข้างต้น เจ้าของควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของพวกเขา