1. โรคไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus)
ช่องทางการติดต่อโรค : ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน โดยน้ำลายที่ติดเชื้อสัมผัสที่แผล
กลไกการก่อโรคและอาการที่พบ : ระยะฟักตัว 1-3 เดือน โดยไวรัสจะไปตามระบบประสาทส่วนกลางแล้วส่งผลต่อสมองและไขสันหลัง มักเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือเป็นอัมพาต
การรักษา
– หากถูกสัตว์ที่ติดเชื้อหรือไม่ทราบที่มา (ให้อนุมานไว้ว่ามีเชื้อก่อน) กัดหรือข่วน ให้ทำความสะอาดแผลภายใน 15 นาที ด้วยน้ำสบู่ และใช้ยาล้างแผล เช่น โพวิดิน-ไอโอดีน จากนั้นควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสทันที (ภายใน 24 ชม.หลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน)
– หากเริ่มแสดงอาการแล้ว การรักษามักไม่ค่อยได้ผล มีโอกาสเสียชีวิตสูง
แนวทางการป้องกัน
– ฉีดวัคซีนให้สัตว์เป็นประจำทุกปี
– ควบคุมสุนัขจรจัดและสัตว์นำเข้า
2. ไวรัสฮันตา (Hantavirus)
ช่องทางการติดต่อโรค : เกิดขึ้นจากการสูดสิ่งขับถ่ายของสัตว์ฟันแทะ เช่น ละอองจากปัสสาวะและอุจจาระของหนู เป็นต้น
กลไกการก่อโรค : ระยะฟักตัว 1-8 สัปดาห์ มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นในสัตว์ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน
อาการที่พบ : มีไข้ หนาวสั่น เจ็บกล้ามเนื้อ หลังจาก 1-2 วัน ต่อมา มักมีอาการ ไอแห้ง ๆ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือหายใจสั้น
การรักษา : รักษาตามอาการ
แนวทางการป้องกัน : ควบคุมประชากรหนูและสัตว์ฟันแทะ
3. โรคติดต่อเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus)
ช่องทางการติดต่อโรค : เชื้อแพร่ได้จากสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะยุงและนกป่า คนสามารถติดต่อโดยถูกยุงกัด แต่ไม่ค่อยติดต่อจากคนสู่คน ในกรณีที่ติดต่อจากคนสู่คนโดยทาง การปลูกถ่ายอวัยวะ การถ่ายเลือด จากแม่สู่ลูก (ผ่านทางรก)
กลไกการก่อโรคและอาการที่พบ : ในคนอาการเล็กน้อย และไม่ค่อยพบการเกิดสมองอักเสบ แต่จะมีผลกับม้า มักไม่แสดงอาการ แต่หากมีอาการก็จะเป็นไข้สมองอักเสบ อัตราการตายสูง 33%
การรักษา : รักษาตามอาการ
แนวทางการป้องกัน : ทำวัคซีนให้ม้าและป้องกันยุง
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก)
แผนกอายุรกรรม,แผนกอัลตร้าซาวด์