สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคเรายิ่งต้องดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้เขาได้กินสิ่งที่เหมาะสมกับร่างกาย โดยเฉพาะ “โรคไต” ที่อาหารถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาที่สำคัญและสามารถยืดอายุของสุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคไต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมวโดยเฉพาะในตัวที่อายุมาก หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือทำให้ไตกลับมาทำงานได้ปกติเหมือนเดิม การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงรักษาตามอาการควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสมสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต
การดูแลอาหารสำหรับสัตว์ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
1.จำกัดโปรตีนและเกลือแร่บางชนิด
เนื่องจากโปรตีนนั้นเมื่อร่างกายย่อยแล้วจะเกิดของเสียในกระแสเลือด ซึ่งไตมีหน้าที่หลักในการขับออกมาทางปัสสาวะ ส่วนเกลือแร่บางชนิด เช่น ฟอสฟอรัส โซเดียม ก็มีไตที่มีหน้าที่จับออกเป็นหลักเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีการจำกัดเกลือแร่บางชนิดในสัตว์ที่มีภาวะโรคไต
2.เสริมวิตามินและกรดไขมันที่จำเป็น
วิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี วิตามินซี มีความจำเป็นมาก แต่สัตว์ที่เป็นโรคไตจะมีการสูญเสียวิตามินเหล่านี้ไปกับปัสสาวะได้เยอะ ดังนั้นจึงควรมีการเสริมส่วนกรดไขมันที่จำเป็น เช่น กลุ่มโอเมก้าสาม EPA DHA วิตามินและกรดไขมันดังกล่าวสามารถเสริมในสัตว์ที่เป็นโรคไตได้เนื่องจากช่วยคงสภาพการทำงานของไตให้ดียิ่งขึ้น
3.ควบคุมปริมาณแร่ธาตุบางชนิดที่มีผลกับไต
สัตว์ที่เป็นโรคไตมักมีการสะสมแร่ธาตุบางชนิดในร่างกายที่สูงจนเกินไป เช่น ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ฯลฯ จึงควรมีการควบคุมอาหารเพื่อจำกัดปริมาณแร่ธาตุเหล่านี้ ส่วนโพแทสเซียมอาจต้องมีการตรวจเช็คในสัตว์เป็นราย ๆ ไป เพราะบางรายอาจมีการขาดโพแทสเซียมหรือบางรายอาจมีภาวะสะสมของโพแทสเซียม ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
4.ให้อาหารที่มีปริมาณโปรตีนพอเหมาะ ไม่มากและน้อยจนเกินไป
ควรมีการจำกัดปริมาณโปรตีนเพราะไตมีหน้าที่หลักในการกำจัดของเสียในกระแสเลือดจากการย่อยโปรตีน แต่การไม่ให้สัตว์ได้รับโปรตีนเลยก็ทำให้สัตว์มีภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและทำให้ร่างกายซูบผอมอ่อนแอลงได้
ในปัจจุบันนี้มีการสร้างอาหารสูตรจำเพาะที่เหมาะสมกับโรคไตเพื่อความสะดวกในการเลือกใช้ของเจ้าของสัตว์ หรือถ้าเจ้าของต้องการปรุงอาหารให้สัตว์เองก็สามารถทำได้แต่ต้องอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์
ปริมาณอาหารที่เหมาะสมนั้นอ้างอิงได้ทั้งจากน้ำหนักของสัตว์และสัดส่วนร่างกาย ควรมีการประเมินน้ำหนักอาทิตย์ละ 1-2 ครั้งเพื่อความเหมาะสม โดยน้ำหนักของสัตว์ควรมีการเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 0.5% ของน้ำหนักตัวทั้งหมดต่อสัปดาห์ เพราะถ้าน้ำหนักของน้อง ๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเร็วจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
นอกจากการดูแลเรื่องการกินของสัตว์ที่เป็นโรคไตแล้ว ควรมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และประเมินอาการน้อง ๆ ที่โรงพยาบาลสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัตวแพทย์แนะนำและปรับแผนการจัดการเรื่องอาหารของสัตว์ได้ต่อไปด้วยนะคะ
การดูแลสุนัขและแมวที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง หากเจ้าของสังเกตอาการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วพามาพบสัตวแพทย์โดยทันทีก็จะสามารถช่วยชะลออาการของโรคได้ และถ้าดูแลเรื่องอาหารได้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการของน้องหมาน้องแมวก็จะทำให้เขาอยู่กับเราได้นานมากขึ้น ดังนั้นอย่าละเลยเรื่องอาหารสำหรับสัตว์ที่ป่วยโรคไตกันนะคะ
ข้อมูลจาก
น.สพ. ฐิติกร เอกสิริไตรรัตน์ (หมอซัน) โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
“What’s new in dietary therapy for renal disease”. World small animal veterinary association (WSAVA 2019)