ภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข เป็นปัญหาที่เจ้าของหลายคนมักชะล่าใจ ไม่คิดว่าจะอันตราย เนื่องจากภาวะนี้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของสุนัขแบบฉับพลัน แต่ความเสียหายจะค่อย ๆ เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ อาทิ ไต หัวใจ ระบบประสาท ถ้าความดันสูงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในหลายระบบ แม้ส่วนใหญ่ภาวะนี้จะพบในสุนัขที่แก่แล้วหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป แต่เจ้าของอย่างเราก็ไม่ควรวางใจ มาทำความเข้าใจโรคนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตน้องหมาของเรากัน

ภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข จะเกิดขึ้นเมื่อสุนัขมีระดับความดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุอาจเกิดจากสุนัขมีภาวะความดันโลหิตสูงโดยตรงผ่านพันธุกรรม หรือเป็นโรคอื่นจึงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เมื่อสุนัขมีภาวะนี้นานเข้าส่วนมากจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายสุนัขทั้งหัวใจ ไต ตา และระบบประสาท ฯลฯ
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข
สาเหตุของการเกิดภาวะความดันเลือดสูงในสุนัขยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่มีการสังเกตว่าหากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีภาวะความดันสูงก็มีโอกาสที่ลูกจะมีความดันสูงได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีส่วนมาจากพันธุกรรม
ส่วนใหญ่สุนัขที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีอายุอยู่ที่ 2-14 ปี และสุนัขประมาณ 80% พบว่าเป็นความดันสูงแบบทุติยภูมิ คือภาวะที่ความดันโลหิตเพิ่มสูงเป็นระยะเวลานานและมีโรคหรือความผิดปกติจากการใช้ยาบางชนิดหรือการได้รับสารพิษบางอย่างที่เป็นสาเหตุของภาวะโลหิตสูง (ที่มา: VPN magazine) อาทิ โรคไต ความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์
นอกจากนี้ภาวะเบาหวานก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะความดันสูงได้ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยพบว่าเกิดในสุนัข ดังนั้นเราจึงอาจพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยได้
อาการของภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข
- ชัก
- เดินวนเป็นวงกลม
- เวียนศีรษะ
- ตาบอด
- รูม่านตามีการขยาย
- จอประสาทตาหลุด
- มีเลือดออกที่ดวงตา
- ปัสสาวะมีเลือด
- พบโปรตีนปนปัสสาวะ
- พบเลือดไหลออกจากจมูก
- ไตมีการบวมหรือเหี่ยวตัว
- เสียงหัวใจมีความผิดปกติ
- อ่อนแรง อาจจะเป็นซีกหนึ่งของร่างกายหรืออาจจะเป็นที่บริเวณขา
- มีการกลิ้งของลูกตา
- เมื่อคลำต่อมไทรอยด์ พบการขยายขนาด

การวินิจฉัย
การวัดความดันโลหิตในสุนัขมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี
1.การวัดความดันโลหิตจากภายในเส้นเลือดแดง (Invasion Blood Pressure)
วิธีการวัดจะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในเส้นเลือดแดงของสุนัข ปกติเราจะใช้วิธีนี้กับสุนัขป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการวัดวิธีนี้จะมีความแม่นยำมากกว่า มักจะทำในสุนัขที่กำลังผ่าตัดหรือป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
2.การวัดความดันโลหิตจากภายนอก (Non-invasion Blood Pressure)
วิธีการวัดจะคล้าย ๆ กับวิธีวัดความดันเลือดในคนอย่างที่เราคุ้นตากันดี แต่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ โดยก่อนอื่นต้องควบคุมสุนัขให้นิ่งก่อน เพราะถ้าสุนัขตื่นเต้นหรือหวาดกลัวแล้วจะส่งผลต่อค่าความดันโลหิตได้ โดยขั้นตอนนี้อาจต้องพาน้องหมามาอยู่ในห้องที่เงียบสงบ ให้สุนัขทำความคุ้นเคยกับสถานที่และคนแปลกหน้า เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยหมอ อย่างน้อย ๆ สัก 15-60 นาที ก่อนที่จะทำการวัด ซึ่งบางครั้งอาจต้องให้เจ้าของเข้าไปช่วยจับและคอยปลอบใจด้วยเพื่อไม่ให้เขาตื่นกลัว จากนั้นสัตวแพทย์จะเริ่มคลำตรวจหาตำแหน่งชีพจร (อาจเป็นบริเวณด้านล่างข้อขาของขาหน้าใกล้กับอุ้งเท้า) เมื่อหาตำแหน่งเสียงได้แล้วก็จะทำการสวมแผ่นรัดขา (Cuffs) ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของขาสุนัข โดยพันรอบขาน้องหมาเหมือนอย่างที่พันรอบแขนในคน และรออ่านค่าความดันเลือด จากนั้นให้ทำการวัดซ้ำอีก 3-5 ครั้ง เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด

มาตรฐานความดันเลือดในสุนัข คือ
- 150/95 หรือต่ำกว่าจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด และยังไม่ต้องได้รับการรักษา
- 150/99 ถึง 150/95 ควรทำการวัดใหม่อีกครั้ง
- 160/119 ถึง 179/100 ควรทำการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียของอวัยวะ
- 180/120 ควรรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน
การรักษา
การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในสุนัข สัตวแพทย์แนะนำว่าควรทำการรักษาสาเหตุที่ทำให้ความดันเลือดสูงก่อน ไม่อย่างนั้นสุนัขจะต้องกินยาควบคุมความดันไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดได้ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ หากไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคต้นเหตุได้ก็มีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงของเราบางตัวอาจจะต้องกินยาลดความดันไปตลอดชีวิต
นอกจากนี้สัตวแพทย์จะทำการแนะนำอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้กับสุนัขและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุไปควบคู่กันไป รวมถึงใครที่สุนัขมีน้ำหนักตัวมากเกินไปให้ค่อยๆลดน้ำหนักเขาลง และหากครอบครัวไหนที่สุนัขเริ่มเข้าวัยกลางคนแล้วควรพาสุนัขมาตรวจสุขภาพและวัดความดันเลือดที่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตน้อง ๆ นะคะ
สพ.ญ. อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอนุ่น) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Guidelines for the Identification, Evaluation, and Management of Systemic Hypertension in Dogs and Cats J Vet Intern Med 2007;21:542–558
PetMD. High Blood Pressure in Dogs. https://bit.ly/3QZjUJU
บ้านและสวน. โรคความดันสูงในสัตว์เลี้ยง. https://bit.ly/3pNKNEG