Menu Close

ลูกนกตกจากรัง ช่วยอย่างไรให้รอด !?

จิ๊บ ๆ ๆ เสียงนกร้องมาจากที่ไหนนะ อ้าว! นกที่ไหนมาบาดเจ็บอยู่ตรงนี้ ถ้าปล่อยไว้น้องต้องไม่รอดแน่เลย ช่วงฤดูฝนแบบนี้ ทั้งฝนตก ทั้งลมแรง หลาย ๆ คนอาจเคยเจอลูกนกพลัดตกลงมาจากรัง แต่ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร เราจะมาบอกวิธีสังเกตลูกนกก่อนช่วยเหลือและวิธีดูแลให้ทุกคนได้รู้กันค่ะ

เวลาลูกนกตกจากรัง คนมักเข้าใจผิดว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะกลิ่นมนุษย์จะติดตัวลูกนก ทำให้พ่อแม่นกไม่มารับกลับรัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนกมีประสาทการรับรู้กลิ่นที่ไม่ดีนัก การจับตัวลูกนกไม่ได้ส่งผลขนาดนั้น แต่หากจับแรงและบ่อยเกินไปก็อาจทำให้ลูกนกบอบช้ำได้ ขณะเดียวกันการนำมาเลี้ยงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากจำเป็นต้องรับเลี้ยงก็ควรดูแลให้ดีและเหมาะสม แต่ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าลูกนกที่เราจะพบนั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ

1.ลูกนกอ่อน – จะมีแต่หนังหรือแค่ขนอุย ๆ ยังบินไม่ได้ แต่ดันตกจากรังมาซะก่อน

กรณีนี้ ให้มองหารังเดิมของน้อง ถ้าเจอก็อุ้มกลับคืนรัง แต่ถ้าไม่เจอก็สร้างรังเทียมขึ้นมา อาจเป็นตะกร้าที่น้ำฝนไหลผ่านได้ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ถ้าพ่อแม่นกยังอยู่เดี๋ยวเขาก็จะกลับมาดูแลลูก แต่คนไม่ควรไปเฝ้าประชิดรังนก เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่กล้ากลับมาหาลูก ควรแอบดูอยู่ห่าง ๆ จะดีที่สุด

2.ลูกนกหัดบิน – ยังบินไม่เก่ง ก็เลยพลาด  

กรณีนี้มักมีพ่อแม่นกอยู่แถว ๆ นั้น  ให้เราแอบซุ่มรอดูสัก 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีพ่อแม่นกมาจริง ๆ ค่อยเก็บไปดูแล

3.ลูกนกกำพร้า ค่อนข้างโตแล้ว แต่ไม่มีพ่อแม่และยังดูแลตัวเองไม่ได้

กรณีนี้หากรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีพ่อแม่กลับมารับจริง ๆ ก็สามารถเก็บกลับมาดูแลได้ โดยใส่ลูกนกในกล่องหรือตระกร้า ปูรองด้วยทิชชู่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ฉีก

การดูแลนกหากเก็บมาเลี้ยง

เริ่มจากการให้อาหารนก เราควรจำแนกชนิดนกให้ได้ก่อนว่าเป็นนกอะไร เพื่อจะได้เลือกชนิดอาหารให้ถูกต้องและป้อนเมื่อลูกนกร้องขออาหาร ปกติลูกนกจะร้องและอ้าปากขออาหาร หากไม่ร้องหรืออ้าปากขออาจเป็นไปได้ว่ายังไม่หิวหรือป่วย

ข้อควรระวังคือไม่ควรให้อาหารเด็กประเภท “ซีรีแลกซ์” หรือ “นม”  เพราะนกไม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยโปรตีนในนม นมจึงอาจทำให้นกท้องเสียได้ และพวกอาหารประเภทนี้โปรตีนค่อนข้างต่ำมาก ในขณะที่ลูกนกต้องการโปรตีนสูงกว่านั้น ส่วนอาหารสำเร็จรูปของนกที่วางขายกันนั้นก็ใช้ได้กับนกบางชนิดเท่านั้น แต่หากลูกนกแข็งแรงดีก็ลองฝึกให้จิกกินอาหารจากช้อนได้ ที่สำคัญไม่ควรป้อนน้ำลูกนกเพราะเหมือนเป็นการบังคับทำให้สำลักน้ำเข้าทางเดินหายใจได้ ลูกนกมักจะได้น้ำจากอาหารอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดอยากป้อนน้ำควรให้ลูกนกจิบน้ำเอง 

นอกจากนี้ ลูกนกยังไม่มีขนต้องใช้พลังงานมากในการทำร่างกายให้อบอุ่น ความอบอุ่นจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ลูกนกแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับความอบอุ่น เนื่องจากลูกนกยังมีขนไม่มากนักและสูญเสียความร้อนค่อนข้างเร็ว การกกไฟให้ความอบอุ่นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถใช้หลอดไฟเหลืองหรือหลอดไฟกกโดยเฉพาะ แขวนห่างจากลูกนกประมาณ 30 เซนติเมตรหรืออุณหภูมิใกล้ตัวลูกนกประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และตั้งไว้มุมใดมุมหนึ่งของกล่อง แต่ควรระวังว่าอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปอาจทำให้ลูกนกตายได้

สุดท้ายแล้วเมื่อพยาบาลเบื้องต้นจนนกแข็งแรงดีแล้ว เราควรปล่อยนกไปในพื้นที่ที่มีอาหารตามธรรมชาติของนกประเภทนั้น ๆ จะดีกว่านะคะ หรือถ้ารู้สึกผูกพันธ์จนอยากเลี้ยงเองแต่ไม่แน่ใจในการดูแลลูกนก สามารถขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากสัตวแพทย์ได้เลย  

———————————————————————————–

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.ณุนรี ไตรรัตนานุวงษ์ สัตวแพทย์ประจำแผนกสัตว์พิเศษและแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST)