Menu Close

ทำอย่างไรดี? เมื่อโรคข้อสะโพกเสื่อมมาเยือนน้องหมา

โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) เป็นโรคที่พบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์ โดยโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของการเจริญของข้อต่อบริเวณสะโพกซึ่งก่อให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อตามมาได้ในอนาคต เมื่อสุนัขเริ่มมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมจะทำให้เขาเกิดการเจ็บปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายจนส่งผลกระทบให้สุนัขมีอาการเดินผิดปกติ รวมถึงมีความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง 

เอ๊ะ! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขของเราเริ่มมีอาการโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือยัง? สิ่งที่เจ้าของน้องตูบหลาย ๆ ท่านควรทำคือสังเกตความผิดปกติสุนัข หากเขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป  เริ่มไม่อยากลุก ไม่อยากเดิน นอนเยอะเพราะไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่อยากลงน้ำหนักที่ขา ไม่มีความสุขในการทานอาหาร หรืออาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ร่วมด้วย หากสังเกตแล้วพบว่าน้องหมาของใครแสดงอาการดังที่กล่าวไป ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเบื้องต้น

วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข

สำหรับวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ (หมอตั๋ง) สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้คำแนะนำว่า วิธีการรักษามีทั้งวิธีที่ต้องผ่าตัดและแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุ และสุขภาพของสุนัข ซึ่งจะมีการแบ่งลักษณะอาการร่วมกับการเอ็กซเรย์เพื่อวินิจฉัยว่าปัญหาเกิดจากส่วนไหน โดยวิธีรักษามี 2 วิธี ดังนี้

1.การกินยา

การรักษาด้วยวิธีนี้ สุนัขจะได้ยาลดปวด ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการของเขาได้ หลังจากทานยาเจ้าของควรสังเกตว่าน้องหมาเดินได้ดีขึ้นไหม หรือทำกิจกรรมอื่นเป็นอย่างไร ถ้าเขาดีขึ้นอาจใช้วิธีอื่นร่วมประกอบในการรักษาด้วย เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมปริมาณอาหารและน้ำหนักตัว ฯลฯ กล้ามเนื้อของเขาก็จะแข็งแรงขึ้นโดยที่หมอไม่ต้องผ่าตัด แต่หากสุนัขไม่อยากเดินเขาก็จะออกกำลังกายได้ไม่ค่อยดีนัก เจ้าของหลาย ๆ ท่านจึงอาจจะพาเจ้าตูบไปว่ายน้ำแทนได้ อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น 

ถ้าให้ยาควบคู่กับการออกกำลังกายแล้วดีขึ้น น้องหมามีการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น พาเขาออกเดินเล่นได้บ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

2.การผ่าตัด

หากให้ยาแล้วไม่ดีขึ้นในสิบวันหรือสองอาทิตย์ การผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ดูแล โดยจะมีวิธีผ่าตัด 2 แบบ คือ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่เพื่อทำให้การรับน้ำหนักและการใช้ขาของสุนัขกลับมาเป็นปกติ จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยให้น้องหมาเคลื่อนไหวหรือเดินได้สะดวกขึ้น ช่วยให้เขามีความมั่นคงในการใช้ขาทุกส่วน ส่วนใหญ่วิธีนี้จะเห็นผลภายใน 2-3 วัน หลังผ่าตัด น้องหมาจะเริ่มมีความสุขและกินข้าวเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือเจ้าของต้องดูแลเยอะหลังผ่าตัดในช่วงเดือนแรกและค่าใช้จ่ายสูง 

ผ่าตัดหัวกระดูกออก

การผ่าตัดวิธีนี้อนุโลมให้สุนัขที่หนักน้อยกว่า 17 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากสุนัขต้องใช้กล้ามเนื้อสะโพกในการรับน้ำหนัก หากกล้ามเนื้อน้องหมาไม่แข็งแรงก็อาจจะเดินยากหรือเดินไม่ได้ หลังผ่าตัดจึงต้องพาน้องมาทำกายภาพเพื่อให้เขาใช้ขาได้เร็วที่สุด หากผ่าตัดวิธีนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่าสุนัขจะใช้ขาเดินได้เมื่อไหร่ เพราะผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการดูแลและการทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด

หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัด ในช่วงเดือนแรกเจ้าของไม่ควรให้น้องหมาวิ่งหรือกระโดด อาจพาเขาเดินได้สั้น ๆ เมื่อกล้ามเนื้อทั้งหมดเริ่มมั่นคงจึงค่อยปล่อยให้เขาได้เดินหรือใช้ชีวิต อีกทั้งเจ้าของสุนัขควรมีการควบคุมน้ำหนักตัว ควบคุมปริมาณอาหาร และพาเขาออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ เดินเล่น ฯลฯ

“การกายภาพบำบัดเป็นสิ่งจำเป็นมากหลังจากผ่าตัดเอาหัวกระดูกออก มันคือการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ การนวด การอัลตร้าซาวด์ การใช้เลเซอร์ หรือการช็อตไฟฟ้าบริเวณกล้ามเนื้อ เพื่อให้เขากลับมาใช้ขาได้เร็วที่สุด”

การทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยสุนัขเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกลุกนั่ง การกระตุ้นไฟฟ้า การนวดอัลตร้าซาวด์ หรือการเลเซอร์ลดความเจ็บปวด ข้อดีของการรักษาโดยการกายภาพบำบัด คือ เป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อย สามารถลดความเจ็บปวดได้ดี ทำให้สุนัขกลับมาเดินได้ดีอีกครั้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เวลาที่เราป่วยหรือไม่สบาย การผักผ่อนร่างกายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับสุนัขเองก็เช่นกัน ผู้เลี้ยงจึงควรใส่ใจดูแล ให้ความรักกับน้องหมาเยอะ ๆ เพราะจะช่วยให้สุนัขมีกำลังใจและฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด น้องหมาก็เหมือนเพื่อนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว เพราะฉะนั้นอย่าลืมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลเพื่อให้น้องหมาแข็งแรงอยู่กับเราไปได้อีกนานกันนะคะ

แหล่งอ้างอิง

สัมภาษณ์ ธีรพงษ์ สุธีรัตน์, สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ, โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน, 3 มิถุนายน 2564.

กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์, “การจัดการทางด้านอายุรกรรมในสุนัขโรคข้อเสื่อม,” เชียงใหม่สัตวแพทยสาร 4 (2549): 63-72.