Menu Close

อย่าละเลย! สุนัขขี้กลัว ปัญหาบ่งบอกสภาพจิตใจน้องหมา

เคยไหมบางทีเห็นน้องหมาก้าวร้าว ชอบขู่หรือเห่าใส่คนอื่น ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติของสุนัข ใครล่ะจะรู้ว่ามันอาจแปลว่าสุนัขกำลังอยู่ในความหวาดกลัว เกิดภาวะเครียดหรือกังวลกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ จนถึงขั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขา แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นสุนัขของตัวเองรู้สึกกลัวหรือกังวลใช่ไหมคะ แต่ต้องทำอย่างไรหากน้องหมามีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าเขากำลังกลัว ลองมาทำความเข้าใจกับปัญหาขี้กลัวในสุนัขกันค่ะ

สุนัขก็เหมือนกับคนอย่างเราที่จะมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่มีผลรุนแรงต่อจิตใจหรือชีวิตแล้วเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำในเวลาต่อมา สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นความกลัวที่ฝังลึกลงไปในใจ เพราะความกลัวมักจะเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งสาเหตุความกลัวของสุนัขก็เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น ไม่เคยออกจากบริเวณบ้านไปพบปะคนหรือหมาแปลกหน้า หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้น้องหมารู้สึกไม่ปลอดภัย กังวล และหวาดกลัวจนเกิดความเครียด ยิ่งถ้าสุนัขของเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนหรือสุนัขแปลกหน้า เคยโดยทำร้ายหรือทำให้เจ็บปวดมาก่อน ก็อาจทำให้พวกเขาเลือกที่จะปกป้องตัวเองด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวนั่นเองค่ะ การที่สุนัขมีภาวะหวาดกลัวนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของน้องอยู่แล้ว แต่จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของเมื่อจำเป็นต้องพาน้องหมาออกไปนอกบริเวณบ้าน เช่น ไปพบสัตวแพทย์ เป็นต้น

พฤติกรรมการตกใจง่ายของสุนัข เช่น เวลามีคนเดินเข้ามาจะตกใจกลัวว่าคนจะเข้ามาทำร้าย น้องหมาบางตัวเลยอาจจะกระโดดหนี ร้องเสียงดัง หรือไม่ก็กลัวจนฉี่แตก หากใครเคยมีประสบการณ์เลี้ยงหมาที่ขี้กลัวคงกังวลอยู่บ่อย ๆ ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะให้น้องได้ผ่อนคลายความวิตกหรือความหวาดกลัวลง เพราะเรื่องขี้กลัวเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว มักพบในสุนัขที่มีนิสัยติดเจ้าของและถูกเอาอกเอาใจตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีบางกรณีที่สุนัขจะกลัวจนชัก ช็อค หรือแสดงอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากนะคะ เพราะน้องหมาอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท อาจมีปัญหาลมชัก เกิดจากคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองรวนเลยทำให้น้องตื่นเต้นหรือตกใจง่ายจนทำให้เกิดการชักตามมา ดังนั้นใครที่เลี้ยงสุนัขแล้วน้องมีอาการดังกล่าว แนะนำให้พบสัตวแพทย์เพื่อตรวจระบบประสาทและประเมินอาการ เพราะสุนัขก็มีจิตใจเหมือนกับมนุษย์อย่างเรานะคะ สุขภาพทางด้านจิตใจของสุนัขก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราไม่ควรละเลย 

ในกรณีที่สุนัขตกใจเพราะเสียงดัง มักเกิดในสุนัขที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคยกับเสียง เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงเครื่องยนต์ เสียงประทัด เสียงเครื่องบิน เสียงเพลง เสียงเด็กร้อง หรือเสียงอื่น ๆ ถ้าน้องหมาได้ยินเสียงก็จะแสดงออกด้วยอาการกลัว ตกใจ หางตก ตัวสั่น รีบวิ่งหาที่หลบเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ยิ่งเขากระโดดไปมาหรือวิ่งไม่ยอมหยุด แปลว่าน้องหมากำลังตื่นเต้นมาก ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ไม่เป็นผลดีนัก เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้สุนัขบางตัวเกิดภาวะฉี่เล็ดมากขึ้น 

ถ้าสุนัขไม่ได้ตกใจจากเสียง แต่ถูกแกล้งให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นเขาอาจจะเป็นสุนัขที่ขี้ระแวงได้ ยิ่งถ้าบ้านไหนมีเด็กเล็กต้องระวังเลยนะคะ เพราะการที่เด็กชอบใช้มือทั้งสองข้างจับไปบนขนของสุนัขหรือขยำด้วยความรุนแรงก็จะทำให้สุนัขตกใจและวิ่งหนี ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น สังเกตได้เลยว่าน้องหมาเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทีนี้เวลาเห็นเด็กเดินเข้ามาใกล้ เขาก็จะรีบหลบหลังเจ้าของหรือแอบซุกตัวไม่ให้เด็ก ๆ เห็นเพราะเกิดความกลัวในการสัมผัสของเด็ก จึงเป็นสาเหตุให้สุนัขบางตัวไม่ชอบเด็กเล็ก ๆ ได้ 

ทั้งนี้ สุนัขที่ยังเล็กอยู่บางตัวก็อาจมีอาการตกใจเพียงเล็กน้อยได้ เช่น หางตก ใบหน้าตื่น ๆ สักครู่ก็จะมีอาการปกติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของลูกสุนัข แต่ถ้าน้องหมาแสดงความหวาดกลัวจนตัวสั่นอย่างเห็นได้ชัดหรือหลบไปซุกอยู่ตามมุมกรง ไม่ยอมขยับตัว แสดงอาการขู่คำราม แสดงให้เห็นว่าลูกสุนัขตัวนั้นอาจจะมีความผิดปกติด้านจิตใจได้ แต่โดยปกติลูกสุนัขทุกตัวจะมีนิสัยร่าเริง การดูนิสัยของสุนัขว่าเป็นสุนัขขี้กลัว ขี้อาย หรือขี้เล่นนั้น เราอาจสามารถทดสอบด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น การปรบมือ การสั่นพวงกุญแจ หรือดีดนิ้วเรียกให้เขามาหา แล้วสังเกตอาการตอบรับของสุนัขว่า มีอาการตกใจกลัว วิ่งหนี หรือเข้ามาหาเพื่อเล่นด้วย

วิธีแก้ปัญหาสุนัขขี้ตกใจหรือขี้กลัว

1.สร้างประสบการณ์ให้เกิดความคุ้นเคย

ฝึกให้ลูกสุนัขเดินในสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดที่สะอาด ให้เดินสวนกับคนแปลกหน้าและให้ได้ยินเสียงคนแปลกหน้าที่เขาไม่เคยรู้จักบ้าง ลองให้คนแปลกหน้าได้สัมผัสขนน้อง หรือให้น้องหมาได้ยินเสียงรถยนต์และเสียงต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อสร้างความคุ้นเคย พยายามให้เขาได้ออกนอกบ้านบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน เมื่อได้ยินเสียงต่าง ๆ ก็จะทำให้สุนัขไม่เกิดความกลัวหรือตกใจ ทำให้เขาสามารถปรับตัวและเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้

2.นวดสัมผัสให้ผ่อนคลาย

เมื่อสุนัขมีอาการตกใจกลัว ควรผ่อนคลายให้เขาได้หายตกใจด้วยการลูบหัวหรือนวดไปตามลำตัวเบา ๆ การสัมผัสตัวสุนัขด้วยความเอ็นดูและทนุถนอมสามารถสร้างความอบอุ่นและเป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับสุนัขได้นะคะ เป็นการช่วยให้น้องหมารู้สึกผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลได้ 

3.กอด

การที่เจ้าของกอดเขาแน่น ๆ ก็เหมือนเป็นการปลอบประโลมที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่สุนัขและช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย

4.ทักทายและพูดคุยด้วยความนุ่มนวล

ทักทายสุนัขด้วยการนั่งลงและใช้มือเกาหรือลูบที่บริเวณใต้คางของน้องก็จะทำให้เขารู้สึกสบายใจและคลายความวิตกกังวลได้ ลองลูบหัวพร้อมคุยเล่นกับเขา น้องหมาจะตอบรับและแสดงความรักกับเราด้วยการเลียใบหน้าหรือเลียมือ

5.พาออกกำลังกาย

วิธีธรรมชาติที่จะทำให้สุนัขได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่สะสมอยู่คือให้เขาได้วิ่งเล่นออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เรื่องสถานที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากนะคะ ควรมีบริเวณให้ให้น้องหมาได้วิ่งเล่น ไม่ควรกักขังเขาไว้ตลอดเวลา การฝึกสอนให้น้องหมาได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยทำให้น้องเข้าสังคมได้ดีด้วย

สุขภาพทางด้านจิตใจของสุนัขเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ถ้าเราสังเกตดี ๆ จะเห็นได้เลยว่าเวลาน้องหมากลัวเขาจะแสดงออกทางร่างกายและพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ  เราสามารถฝึกสอนให้เขาได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เขาได้ปรับตัวกับความกลัวเหล่านั้นได้ อย่าลืมว่าสุนัขก็เครียดและมีปัญหาทางจิตใจได้เหมือนกับเรานะคะ 

———————————————————————————–

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม และแผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Pethub. Recognizing Abnormal Stress and Anxiety in Dogs. From Pethub: https://www.pethub.com/article/recognizing-abnormal-stress-and-anxiety-dogs