การที่ระบบทางเดินปัสสาวะจะเกิดการติดเชื้อได้นั้น เชื้อแบคทีเรียจะต้องเข้ามาในระบบทางเดินปัสสาวะเสียก่อนโดยเชื้อแบคทีเรียจะต้องเกาะติด (adhere) กับเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ จากนั้นจะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและคงอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และก่อให้เกิดการอักเสบตามมาและการอักเสบนี้เองที่ทำให้สัตว์แสดงอาการต่างๆ ของทางเดินปัสสาวะออกมาให้เห็น
ดังนั้นหากจะทำการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินปัสสาวะ การมุ่งเน้นไปที่การเกาะติดจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เรียกว่า Anti-adhesive therapeutics Anti-adhesive therapeutics เชื้อแบคทีเรียจะอาศัยโปรตีนโมเลกุลที่ชื่อ adhesin ที่อยู่บน fimbria ของแบคทีเรีย (FimH) โดยเฉพาะแบคทีเรียกลุ่ม E.coli ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะมากที่สุดเข้ามาจับกับ ตัวรับบนเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ เมื่อยึดติดกันแล้วแบคทีเรียก็จะเพิ่มจำนวนและก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้
ดังนั้น anti-adhesive therapeutic จึงมีหลักการที่จะนำสารบางอย่างไปจับกับ FimH ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถจับกับเยื่อบุทางเดินปัสสาวะได้ ในปัจจุบันมีการใช้สารอยู่ 2 ชนิดในการยับยั้ง FimH ของแบคทีเรีย ดังต่อไปนี้
1. สารสกัดจาก cranberry (cranberry extract)
พบว่ามีการใช้กันอย่างกว้างขวางในการป้องกัน recurrent urinary tract infection ในคน โดยพบว่าในผล cranberry มีสาร bioactive tannin ตามธรรมชาติ เช่น proanthocyanidin ซึ่งสารดังกล่าวมีความสามารถในการยับยั้งการยึดเกาะของ FimH กับเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจาก cranberry สามารถยับยั้งการยึดเกาะของ E.coli กับเซลล์ไตได้ ในทางสัตวแพทย์มีผลการศึกษาที่พบว่าไม่ได้ให้ผลในการป้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในคนหรือในสัตว์ สิ่งที่ให้ตรงกันคือไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้สารสกัดดังกล่าว ดังนั้นการใช้สารสกัด cranberry ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้เพื่อป้องกัน recurrent urinary tract infection
2. D-mannose เป็นน้ำตาลที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
การที่มี D-mannose ในปัสสาวะสามารถยับยั้งการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรียกับเซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากว่า D-mannose ไปจับกับ FimH adhesin ซึ่ง D-mannose จะมีโครงสร้างที่คล้ายกับ receptor บนเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการแย่งจับกับ FimH ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถยึดเกาะกับเยื่อบุทางเดินปัสสาวะได้และถูกขับทิ้งออกไปกับปัสสาวะ
ข้อมูลจาก:
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก)
แผนกอายุรกรรม, แผนกอัลตร้าซาวด์
สัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
แหล่งอ้างอิง:
วชิรา หุ่นประสิทธิ์. (2564). การป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ. จาก https:// readvpn.com/Topic/Info/4812f658-9450-4371-87c7-8bbaac515f46.