โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่หลายคนต้องเคยได้ยินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาลจนมีรายงานการระบาดของโรคนี้ว่าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสัตว์แล้ว คนก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการถูกกัดไม่แพ้กัน ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงความร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้าและเตรียมพร้อมรับมือกันค่ะ

ทำความรู้จักโรคพิษสุนัขบ้า
“โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเพียงแค่สัตว์ที่ติดเชื้อมาเลียบาดแผลก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสตัวนี้ยังสามารถเข้าได้ทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก ปาก แม้ว่าเยื่อเมือกจะไม่มีบาดแผลก็ตาม ทำให้โรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรงมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงคนด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก ม้า หรือแม้กระทั่งในสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สุนัขจิ้งจอก เฟอร์เรท เป็นต้น เรียกได้ว่าโรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลก โดยสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็จะเป็นพาหะในการถ่ายทอดเชื้อทางน้ำลายจนกระทั่งสัตว์เสียชีวิต
เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
1.โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว แต่จริง ๆ แล้วทั้งสัตว์และคนสามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู
2.สัตว์ที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวมีโอกาสติดเชื้อและอาจมีสัตว์ที่ติดเชื้อเข้ามาในบริเวณบ้านของเราและกัดสัตว์เลี้ยงของเราได้โดยที่เราอาจไม่รู้ จึงควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
3.ฉีดวัคซีนแล้วป้องกันโรคได้เลย 100%
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะวัคซีนคือเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ไม่ก่อโรค ฉีดเข้าไปให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ขึ้นไปจึงจะได้ภูมิคุ้มกันที่เต็มที่ และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายด้วย ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจเกิดการสร้างภูมิได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องระมัดระวังเรื่องการให้สัตว์ของเราสัมผัสกับสัตว์แปลกหน้าด้วย

อาการโรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 14-90 วัน หรืออาจนานกว่านี้ โดยเฉลี่ยประมาณ 21 วัน ซึ่งอาการของสัตว์แต่ละตัวจะแตกต่างกัน โดยสภากาชาดไทยได้อธิบายอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าไว้ 2 แบบ คือ
1.แบบดุร้าย
สัตว์จะมีอาการหงุดหงิด ตื่นเต้น วิ่งพล่าน ไล่กัดคนและสัตว์ตัวอื่น โดยสุนัขจะแสดงอาการเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และเสียชีวิตในที่สุด
2.แบบเซื่องซึม
อาการแบบนี้จะสังเกตได้ยากกว่าเพราะสัตว์จะมีอาการเหมือนโรคอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดหรือโรคหัด โดยจะมีอาการลิ้นห้อย ปากอ้าหุบไม่ได้ ตัวแข็งเป็นอัมพาต บางตัวมีอาการชักและตายในที่สุด
ทั้งนี้หากไม่แน่ใจควรนำสัตว์ไปให้สัตวแพทย์ตรวจดูอาการ เพราะสัตว์บางตัวอาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้าแต่ไม่แสดงอาการ
แนวทางการป้องกัน
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราถูกสัตว์อื่นกัด สิ่งแรกที่ควรทำคือพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาแผลและพิจารณาแนวทางในการฉีดวัคซีน แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีแนวทางรักษา แต่สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสร่วมกับการรักษาตามอาการได้ ใครที่เลี้ยงสัตว์จึงควรพาเขาไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือนและกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 4 เดือน จากนั้นจึงกระตุ้นปีละครั้ง
กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเรามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกสัตว์อื่นที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด แนะนำให้ฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งทันที และทำการกักตัวสัตว์เลี้ยงของเราแยกจากตัวอื่นไว้เป็นเวลา 45 วัน โดยให้อาหารและน้ำตามปกติ เพื่อสังเกตว่ามีการแสดงอาการของโรคหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ปล่อยออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ และฉีดวัคซีนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ถ้าสัตว์ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลยหรือได้รับวัคซีนไม่ต่อเนื่องแล้วเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าของจะต้องพาเขาไปฉีดวัคซีนทันทีหลังจากถูกกัดและอดทนทำการกักตัวเขาไว้เป็นเวลา 6 เดือน รวมถึงคอยสังเกตอาการ ถ้ามีการแสดงอาการของโรค ตามข้อตกลงสากลให้ทำการเมตตาฆาตหรือทำการฉีดยาให้เสียชีวิตทันที
ในกรณีของคน ถ้าถูกสัตว์กัดหรือเลียบริเวณที่เป็นบาดแผลหรือเยื่อเมือก ต้องรีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ และไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาและพิจารณาว่าต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือควรได้รับ Hyperimmune Serum หรือไม่ และหากเป็นไปได้ควรกักบริเวณและสังเกตอาการของสัตว์ตัวที่สงสัยไว้ด้วย
ถึงแม้ว่าจะมีรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนพิษสุนัขบ้าว่าสามารถป้องกันโรคได้นานถึง 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้สูงจึงแนะนำว่าควรพาน้องสัตว์ไปฉีดวัคซีนทุกปี สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเป็นบุคคลที่ต้องสัมผัสกับสัตว์อยู่เสมอก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้เช่นกัน นอกจากนั้นไม่ควรสัมผัส จับ หรือให้อาหารสัตว์ที่ไม่รู้ประวัติและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตรายต่อสัตว์และคนที่ได้รับเชื้อมาก ๆ นะคะ รู้แบบนี้แล้วใครที่เลี้ยงสัตว์หรือกำลังคิดจะเลี้ยงควรพาน้องมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต และอย่าลืมพาน้องมากระตุ้นวัคซีนซ้ำทุกปีนะคะ
อ่านบทความอื่น ๆ อย่าละเลย! สุนัขขี้กลัว ปัญหาบ่งบอกสภาพจิตใจน้องหมา
———————————————————————————–
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ ปิโยรส โพธิพงศธร (หมอหมวย) สัตวแพทย์ประจำแผนกระบบประสาท แผนกอายุรกรรม และแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Eidas. โรคพิษสุนัขบ้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 จาก Eidas : www.eidas.vet.chula.ac.th/node/390
World Health Organization. Rabies. From World Health Organization : www.who.int/mediacentre/factsheets/fs099/en/.