การผ่าตัดแบบทั่วไปมักสร้างความเจ็บปวดให้กับสัตว์เลี้ยงและบางครั้งแผลมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น การรักษาโดยการส่องกล้องจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเจ้าของหรือผู้ที่ไม่ต้องการให้น้องหมาน้องแมวเจ็บปวดจากบาดแผล เนื่องจากเทคโนโลยีการส่องกล้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการวินิจฉัยของสัตวแพทย์มากขึ้น สัตว์ฟื้นตัวได้ไว และเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัด
การส่องกล้องคืออะไร?
การส่องกล้อง เป็นเทคนิคพิเศษในการตรวจโรคอย่างหนึ่งโดยใช้อุปกรณ์คล้ายท่อติดกล้องและหลอดไฟที่ส่วนปลาย สอดเข้าไปในส่วนของร่างกายที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ (จมูก, หลอดลม) และช่องหู ภาพจะฉายบนจอทำให้เราเห็นรายละเอียดด้านในของอวัยวะนั้นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดเลือดออกและการติดเชื้อ
การวินิจฉัยโรคผ่านการส่องกล้อง
โดยทั่วไปเมื่อสัตว์มีความผิดปกติที่อวัยวะภายใน สิ่งที่ทำได้คือการวินิจฉัยผ่านการอัลตร้าซาวด์ หรือการเอ็กซเรย์ ซึ่งเป็นการฉายรังสี ภาพที่ได้จะเป็นภาพผ่านฟิล์ม ทำให้บางโรคไม่สามารถมองเห็นได้ผ่านวิธีการข้างต้น แต่หากเป็นการส่องกล้องจะสามารถทำให้เห็นรอยโรคได้ชัดเจนกว่าผ่านจอมอนิเตอร์ ทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น โดยการส่องกล้องสามารถช่วยวินิจฉัยความผิดปกติในอวัยวะภายในได้ตั้งแต่ทางเดินอาหารส่วนต้น ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะ ไปจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น หรือส่องตรวจหารอยโรคบริเวณลำไส้ใหญ่ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมีกล้องส่องโพรงจมูก (Rhinoscopy) และ กล้องส่องหลอดลม (Broncoscopy) เพื่อช่วยในวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ตั้งแต่โพรงจมูกลงไปถึงหลอดลม
นอกจากนี้การส่องกล้องยังสามารถใช้ส่องเพื่อคีบสิ่งแปลกปลอมออกจากโพรงจมูก หลอดลม หลอดอาหาร และกระเพาะ หรือเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อผิดปกติภายในบริเวณดังกล่าวได้ โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัด สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและปลอดภัย สัตว์จะฟื้นตัวเร็ว แต่มีความจำเป็นต้องวางยาสลบสัตว์ และจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากประวัติอาการทางคลินิก รวมถึงภาพถ่ายรังสีเอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวด์ร่วมด้วย เพื่อยืนยันตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอมก่อนทำการส่องกล้อง
ก่อนส่องกล้องควรเตรียมตัวอย่างไร?
- สัตว์ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินความพร้อมก่อนการวางยาสลบ
- งดน้ำและอาหาร 6-8 ชั่วโมง ในกรณีส่องตรวจโพรงจมูกและหลอดลม (Rhinoscopy และ Bronchoscopy)
- งดน้ำและอาหาร 12 ชั่วโมง ในกรณีส่องตรวจทางเดินอาหาร (Endoscopy)
- สัตว์จะได้รับยานอนหลับฉีดทางหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการไม่สบายตัวระหว่างการตรวจ
- หลังฟื้นจากยาสลบ ควรนอนพักเพื่อสังเกตอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง
โดยในทุกเคสที่มารักษา คุณหมอจะแนะนำให้วางยาสลบเพื่อลดความตกใจของสัตว์ป่วย และช่วยทำให้การตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
อาการหรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงจากการส่องกล้องจะเกิดขึ้นได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัด อย่างไรก็ตามอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการวางยาสลบ หรือมีเลือดออกเล็กน้อยจากการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ
ส่วนในการเกิดแผลทะลุระหว่างการส่องกล้อง มีโอกาสไม่มากนักที่อุปกรณ์จะไปโดนหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนบนจนเกิดรูทะลุขึ้น ซึ่งหากแผลทะลุนั้นไม่รุนแรงก็มักจะดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล หรืออาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อการรักษาในกรณีที่เป็นแผลรุนแรง
อ่านบทความเพิ่มเติม เข็มกินไม่ได้นะน้องเหมียว! ทำอย่างไรดี? เมื่อแมวชอบกลืนเข็ม
อ้างอิง
สพ.ญ.มณีรัตน์ ธรรมวิภัชน์ (หมออุ้ม) สัตวแพทย์แผนกศัลยกรรม, แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ, แผนกอายุรกรรม และเฉพาะทางศูนย์ส่องกล้องในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Animal Trust http://bit.ly/3KM0tDY