Menu Close

ประโยชน์ของ X-Ray และ Ultrasound

เอกซเรย์ (X-Ray) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) มักถูกนำมาใช้ร่วมกันในการตรวจวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรคและติดตามผลการรักษา เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ทำได้ไม่ยาก กินเวลาไม่นาน ค่าใช้จ่ายคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้ช่วยตอบข้อสงสัย และหาสาเหตุของโรคได้อย่างถูกต้อง และทันเวลา จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการสัตวแพทย์บ้านเรา

ประโยชน์ของxray_ultrasound_big

ประโยชน์ของการเอกซเรย์

การถ่ายภาพเอกซเรย์ ช่วยในการวินิจฉัยโรคและความผิดปกติของอวัยวะสัตว์ในทุก ๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งส่วนหัว ลำตัว ช่องอก ช่องท้อง และขานับจากการหาความผิดปกติเฉพาะแห่ง เช่น กระดูกขาหัก ข้อต่อเคลื่อน หัวใจโต ปอดฉีก ไส้เลื่อน ก้อนเนื้อ และก้อนนิ่ว เป็นต้น การประเมินการกระจายของโรค เช่น การแพร่กระจายของก้อนมะเร็ง และการติดเชื้อ เป็นต้น ตลอดจนการติดตามโรค เช่น ภาวะน้ำท่วมปอด และการเชื่อมต่อขอกระดูกหัก เป็นต้น

ตัวอย่างประโยชน์ของการเอกซเรย์สุนัขเพื่อการวินิจฉัย เช่น

  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อดูสิ่งแปลกปลอมที่สุนัขกินเข้าไป (โดยเฉพาะวัตถุที่มีความทึบรังสี ได้แก่ ตกโลหะ กระดูกที่มีความหนาแน่นสูง ) และมีแนวโน้มทำให้เกิดการอุดตันในทางเดินอาหาร
  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อดูนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี
  • เอกซเรย์สุนัขดูการลามของเนื้องอกมะเร็งไปยังปอดของสุนัข
  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อตรวจสอบว่าสุนัขมีการตั้งท้องหรือไม่และนับจำนวนลูกสุนัขในท้อง วิธีการนี้สามารถทำได้ที่สุนัขอายุตั้งท้องมากกว่า 45 วันขึ้นไปเท่านั้น
  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อประเมินระบบทางเดินหายใจและหัวใจของสุนัข
  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อดูว่าสุนัขมีกระดูกหักบริเวณใดบ้าง เช่น กระดูกขา กระดูกซี่โครง กระดูกนิ้ว กระดูกสันหลัง กะโหลก
  • เอกซเรย์สุนัขเพื่อดูลักษณะของข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ว่ามีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งหรือมีการอักเสบของข้อต่างๆหรือไม่
ภาพตัวอย่างเอกซเรย์

การเตรียมตัวสัตว์เพื่อเอกซเรย์

 การถ่ายภาพเอกซเรย์ให้กับสัตว์ป่วย  โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวพิเศษนัก ยกเว้นในบางกรณี เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ข้อสะโพกที่สัตว์อาจเกิดความเจ็บปวด  หรือการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเทคนิคพิเศษที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวสัตว์ เช่น การฉีดสีบริเวณกระดูกสันหลังเพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งต้องให้ยากล่อมประสาทหรือยาสลบสัตว์  จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวสัตว์ป่วยล่วงหน้า โดยการงดนํ้า และอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงขณะวางยาสลบ

นอกจากนั้นในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย เทคนิคพิเศษโดยการกินสารทึบรังสีเพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นทางเดินอาหารส่วนต้นหรือส่วนปลาย ควรที่จะเตรียมตัวสัตว์โดยการงดน้ำ และอาหารรวมทั้งสวนอุจจาระเพื่อลดปริมาณกากอาหารที่อาจไปขัดขวางทางผ่านของสารทึบรังสีที่ให้

ประโยชน์ของการอัลตร้าซาวด์

 การตรวจอัลตราซาวด์ มีประโยชน์มากในการประเมินความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายโดยเฉพาะหัวใจ หลอดเลือด อวัยวะภายในช่องท้อง และก้อนเนื้อต่าง ๆ โดยประเมินขนาด รูปร่าง ตำแหน่งลักษณะโครงสร้างภายใน และการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ ช่วยให้วินิจฉัยแยกก้อนเนื้องอกออกจากถุงน้ำ ซึ่งแยกไม่ได้ด้วยภาพเอกซเรย์จึงเหมาะสมสำหรับใช้ตรวจสัตว์ป่วยที่มีน้ำในช่องท้อง หรือช่องอก และสัตว์ที่เป็นโรคหัวใจ

นอกจากนี้อัลตราชาวด์ยังช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเก็บตัวอย่างนํ้าและชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาอีกด้วย

ภาพตัวอย่างอัลตร้าซาวน์

การเตรียมตัวสัตว์เพื่ออัลตร้าซาวด์

สำหรับการตรวจอัลตราชาวด์ช่องท้องของสัตว์ ควรมีการเตรียมตัวสัตว์ โดยงดอาหารที่มีกาก และสวนอุจจาระก่อนการตรวจ เพื่อลดปริมาณกากอาหารที่อาจรบกวนหรือบังคลื่นเสียงขณะตรวจ ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์มดลูก และกระเพาะปัสสาวะ ไม่ควรงดน้ำหรือสวนปัสสาวะก่อนตรวจ เพราะน้ำปัสสาวะที่คั่งในกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้เห็นภาพอวัยวะเหล่านี้ชัดเจนขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอนุ่น (สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์)
แผนกอายุรกรรม, แผนกศัลยกรรม, แผนกโรคหัวใจ