ทุกคนที่เลี้ยงสุนัขเคยสังเกตอึน้องหมากันไหมว่ามีลักษณะอย่างไร ปกติอึสุนัขที่ดีจะต้องมีรูปร่างเป็นก้อน เก็บง่าย และมีกลิ่นกลาง ๆ ไม่แรงจนเกินไป ซึ่งเราก็เห็นกันจนคุ้นตา แต่เมื่อไหร่ที่น้องมีอาการซึม อุจจาระมีลักษณะนิ่มหรือเป็นน้ำ แปลว่าน้องกำลังมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือที่เราเรียกกันว่า “ท้องเสีย” นั่นเอง เวลาน้องหมาท้องเสียแน่นอนว่าเขาก็คงจะบอกเราไม่ได้แต่เจ้าของอย่างเราต้องคอยสังเกตและใส่ใจอยู่เสมอ มาดูกันว่าเราจะดูแลน้อง ๆ อย่างไรได้บ้าง
สาเหตุที่ทำให้สุนัขถ่ายอุจจาระเหลว
อาการท้องเสีย ถ่ายเหลว เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในลูกสุนัข ในกรณีที่สุนัขอายุต่ำกว่า 6 เดือน – 1 ปี มักพบว่าสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนประเภทอาหารแบบกระทันหันทำให้สุนัขปรับตัวกับอาหารไม่ทัน การกินอาหารหมดอายุ อาหารไม่ย่อย หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่น้องไม่คุ้นชินก็ทำให้น้องหมาเกิดความเครียดจนท้องเสียได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลันในลูกสุนัขที่พบได้บ่อย
ส่วนน้องหมาที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จะมีความคล้ายคลึงกับลูกหมาที่มีปัจจัยเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อม และความเครียด ที่ทำให้น้องมีอาการท้องเสีย แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือโรคที่อาจจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือ ปัญหาทางเดินอาหารนั้นเอง
แต่หากสุนัขมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานานผิดปกติ อุจจาระมีกลิ่นคาว มีเลือดปน หรือมีมูก สาเหตุมักเกิดจากพยาธิในทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดจากการที่น้องหมากินอาหารหรือกินน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ซึ่งเชื้อแบคทีเรียสามารถพบได้ทั้งในสุนัขอายุน้อยและสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว
หากเจ้าของพบว่าสุนัขมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ซึม อาเจียน มีไข้ ร่วมกับการถ่ายเหลว ควรพาน้องไปพบสัตวแพทย์ทันทีหากสังเกตอาการได้เพื่อให้หมอได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและทำการรักษา
การดูแลและการรักษาสุนัขท้องเสีย
ในสุนัขรายที่เป็นการท้องเสียแบบเฉียบพลัน เจ้าของควรดูแลเรื่องอาหารและความสะอาดให้มากขึ้น เริ่มจากสังเกตก่อนว่าน้องหมากินอะไรที่ผิดปกติเข้าไปหรือเปล่า หากพบควรให้สุนัขหยุดกินทันที จากนั้นหาภาชนะที่สะอาดใส่น้ำให้น้องกินครั้งละน้อย ๆ ระหว่างวัน แต่อย่าให้กินมากจนเกินไป และงดให้น้องหมากินอาหารอย่างน้อย 12 – 24 ชั่วโมง แต่สำหรับลูกสุนัขอายุน้อยหรือสุนัขพันธุ์เล็กควรงดให้อาหาร 4 – 6 ชั่วโมง
หากผ่านไป 12 ชั่วโมงแล้วอาการของสุนัขไม่ดีขึ้น ให้พาไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที เพราะน้องอาจจะช็อคและเสียชีวิตได้จากการขาดน้ำอย่างรุนแรง
ในรายที่มีอาการรุนแรงควรพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการให้สารน้ำทางเส้นเลือด อาจมีการการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน รวมถึงมีการปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับระบบทางเดินอาหารของสุนัข หากเจ้าของไม่รีบพาสุนัขไปรักษาอาจเกิดภาวะช็อคทั้งจากการขาดน้ำหรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ในกรณีสุนัขที่อายุมากและได้รับการรักษาดังกล่าวไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรมีการวินิจฉัยอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การเอ็กซเรย์ การอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพื่อวินิจฉัยโรคกลุ่มอื่น ๆ เช่น เนื้องอก เนื้อร้าย ที่ทำให้มีการถ่ายเหลว
ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลรักษา
เมื่ออาการถ่ายอุจจาระเหลวของน้องหมาเริ่มดีขึ้นแล้ว เจ้าของสามารถดูแลในด้านอื่น ๆ ที่บ้านได้ตามคำแนะนำ ดังนี้
1. ฆ่าเชื้ออุปกรณ์
ในกรณีที่มีการติดเชื้อ ควรมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้กับสุนัขเป็นประจำ เช่น ชามอาหาร ชามน้ำ ของเล่น ที่เสี่ยงจะปนเปื้อนได้ง่าย โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมหรือใช้น้ำร้อนที่สะอาดลวกภาชนะ
2. ให้กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุก
หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ปรุงใหม่หรืออาหารสดที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ หรือเพื่อความสะดวกสามารถใช้อาหารสูตรสำหรับช่วยระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะก่อนในช่วง 1-2 อาทิตย์แรกของการรักษา
3. ให้อาหารเสริม
เจ้าของสามารถให้สารอาหารอื่นเสริมนอกจากอาหารมื้อหลักได้ เช่น ผงเกลือแร่ผสมน้ำ หรือโพรไบโอติก (Probiotic) ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและปรับสมดุลลำไส้
4. แยกกับสุนัขตัวอื่น (ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขหลายตัว)
หากบ้านไหนเลี้ยงน้องหมาหลายตัว เจ้าของควรจับสุนัขที่มีอาการแยกกับสุนัขตัวอื่นในบ้านก่อน เนื่องจากอาการท้องเสียเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อกับสุนัขตัวอื่นได้
5. พาไปฉีดวัคซีน
การพาสุนัขมาฉีดวัคซีนประจำปีอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะหากหมาอายุน้อยติดเชื้อมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงจนเสียชีวิต
อาการท้องเสีย ถ่ายเหลว เป็นอาการป่วยที่สามารถพบบ่อยในสุนัข ซึ่งสาเหตุก็มาทั้งจากอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ไม่เหมาะสมกับร่างกายน้อง รวมถึงความสะอาดต่าง ๆ ในการเลี้ยงดู ดังนั้นเจ้าของจึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารการกินและความสะอาดของน้องหมาอยู่เสมอ การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เบื้องต้นเอาไว้เกี่ยวกับการดูแลน้อง ๆ ก็สำคัญนะคะ หากน้องอาการหนักเราจะสามารถสังเกตและพาน้องมารักษาได้ทันท่วงที อาการน้องจะได้ไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต
อ่านบทความอื่น ๆ 8 สาเหตุที่ทำให้น้องหมา “หอบ” ผิดปกติ
แหล่งอ้างอิง
โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก. การดูแลและป้องกันเมื่อสุนัขมีอาการท้องเสีย. https://bit.ly/35ZGLm4
เกร็ดความรู้. วิธีดูแลรักษาสุนัขท้องเสีย ในเบื้องต้นเราควรทำอย่างไรบ้าง. https://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.com/4-ways-to-treat-dog-diarrhea/