ใครจะรู้ว่าการให้น้องหมาน้องแมวรับประทานยาเองโดยไม่มีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์อาจจะสามารถทำให้น้อง ๆ เกิดอาการดื้อยาปฏิชีวนะจนเสียชีวิตได้?! หลายคนน่าจะเคยรู้ว่าปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในมนุษย์อย่างเรา แต่ก็มีการพบว่าสัตว์เลี้ยงก็มีปัญหาการดื้อยาเหมือนกับมนุษย์เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อน้อง ๆ มีอาการดื้อยา แน่นอนว่าทั้งคุณหมอและเจ้าของต้องหนักใจกันแน่นอน เพราะจะทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผล เจ้าของต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการหายาปฏิชีวนะกลุ่มใหมที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้น และที่แย่ที่สุดก็คือส่งผลให้มีอัตราสัตว์ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วอะไรคือสาเหตุที่อาจทำให้น้องหมาน้องแมวดื้อยาปฏิชีวนะได้ บ้างลองมาทำความเข้าใจกัน
การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เลี้ยงมีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้สัตว์หายจากโรคและมีอาการดีขึ้น เมื่อดื้อยาปัญหาที่ตามมาก็จะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อไม่ได้ผล
สาเหตุที่ส่งเสริมให้สุนัขและแมวเกิดการดื้อยา คือ
- การได้รับยาปฏิชีวนะไม่ต่อเนื่องหรือผิดวิธี เช่น เมื่อสัตว์เลี้ยงอาการดีขึ้นแล้วเจ้าของให้หยุดยาเองแบบกระทันหัน ไม่ให้สัตว์กินยาครบตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด หรือไม่พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาต่อเนื่องเพราะคิดว่าหายดีแล้ว
- กรณีที่สัตว์เลี้ยงป้อนยายาก อาจทำให้เจ้าของมีการป้อนยาไม่ต่อเนื่อง หรือไม่อยากให้ยาต่อ
- เจ้าของซื้อยาปฏิชีวนะให้สัตว์เลี้ยงเองโดยไม่ผ่านสัตวแพทย์ เสี่ยงต่อการได้ยาที่ไม่ถูกต้องตามสาเหตุของโรค ทำให้มีเชื้อดื้อยาในสัตว์เลี้ยง
- ความคงตัวของยาหลังการละลายในตัวทำละลายหรือการเก็บรักษา
การลดปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์เลี้ยง
1.การตรวจค่าความไวของเชื้อจากสัตว์ป่วย เพื่อช่วยในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
2.ลดการใช้ยาที่เกินความจำเป็น ต้องวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดโรคก่อนการเลือกใช้ยา และควรเลือกใช้ยาที่เฉพาะเจาะจงกับโรค
3.สร้างกระแสให้เกิดความรับผิดชอบในการใช้ยาปฏิชีวนะ
4.มีการเลือกใช้ยาตามกลุ่มอย่างถูกต้อง โดยยาปฏิชีวนะอาจสามารถแบ่งได้ตามลักษณะการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- Bactericidal : เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรียโดยตรง เหมาะกับการใช้ในสัตว์ที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น สัตว์ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น กลุ่ม β-lactams, aminoglycosides หรือ fluoroquinolone
- Bacteriostatic : ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและปล่อยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมด้วยตัวเอง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น doxycycline หรือ azithromycin เป็นต้น
5.การเลือกใช้ความถี่ในการให้ยาอย่างเหมาะสม โดยดูตามการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- Time dependent drug : ยากลุ่มนี้ได้แก่ยากลุ่ม β-lactams (amoxycillin, ampicillin, cephalosporin) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์คุมแบคทีเรียได้ดีเมื่อมีการให้ยาในช่วงความถี่ที่เหมาะสมเพื่อให้ระดับความเข้มข้นของยามีค่ามากกว่า minimum inhibitory concentration (MIC) โดยที่การเพิ่มปริมาณยาหรือความเข้มข้นของยาไม่ได้มีผลทำให้มีการคุมแบคทีเรียได้ดีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการให้ยากลุ่มนี้ในความถี่ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก
- Concentration dependent : ยากลุ่มนี้ได้แก่พวกยา aminoglycosides, fluoroquinolones, metronidazole เมื่อเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นจะมีผลทำให้ฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามไปด้วย การให้ปริมาณยาที่เหมาะสมในยากลุ่มนี้จึงมีผลกับประสิทธิภาพของยาโดยที่ความถี่ในการให้มีความสำคัญน้อยกว่า
- Concentration and time dependent : ในปัจจุบันมียาบางตัวที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทั้ง time dependent และ concentration dependent เช่น clindamycin ซึ่งกรณีนี้การเพิ่มความถี่หรือการเพิ่มความเข้มข้นจะมีทำให้ประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นได้ทั้งนั้น
ปัญหาสัตว์เลี้ยงดื้อยาเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับลูกๆของเราได้ตลอดเวลา จนอาจส่งผลต่อการรักษา และส่งผลต่อสุขภาพของน้องๆในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้หากน้องๆป่วยเราไม่ควรหยุดยาหรือให้ยาทานเองโดยไม่ปรึกษาสัตวแพทย์นะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม สาระมะหมา อาหารเสริมสำหรับสุนัข วิตามินแต่ละชนิดดีต่อร่างกายสุนัขอย่างไรบ้าง
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. https://bit.ly/3VbSqSr
สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการโรคสัตว์แห่งประเทศไทย.(2015). เชื้อแบคทีเรียนดื้อยาในสัตว์เลี้ยงและแนวทางการแก้ปัญหา. The journal of thai vaterinary practitioners, 27(1-2), 15-25. https://bit.ly/3hJZHv3