เทรนด์รักษาสุขภาพให้น้องหมากำลังมาแรงในบ้านเราแล้วก็ต่างประเทศ เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของจะต้องคอยดูแลให้เขาได้กินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง การให้อาหารที่สดใหม่อย่างอาหารบาร์ฟจึงเริ่มกลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยงสุนัขมากขึ้น ทาสน้องหมาหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการให้อาหารบาร์ฟกันมาบ้างแต่อาจจะยังรู้ข้อมูลไม่มากนัก เรามาทำความรู้จักวิธีการให้อาหารแบบบาร์ฟกัน
อาหารบาร์ฟ (BARF) ย่อมาจากคำว่า “Bones and Raw Food” คือ อาหารที่มีส่วนประกอบมาจากเนื้อ อวัยวะภายใน และกระดูกสัตว์ รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์นม พืชผักผลไม้ ที่ไม่ผ่านความร้อน ซึ่งสามารถประกอบได้เองหรือสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด โดยจุดประสงค์ของการให้อาหารบาล์ฟนั้นเชื่อว่าเป็นการเลียนแบบการกินอาหารตามธรรมชาติของสัตว์และทำให้สัตว์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เสี่ยงต่อโรคอ้วน และมีอายุที่ยืนยาว สามารถหลีกเลี่ยงสารเคมีปรุงแต่งต่าง ๆ ในอาหารที่สามารถส่งผลเสียต่อสัตว์ได้
การให้อาหารบาล์ฟแก่สุนัขมีข้อจำกัด คือ ผู้ประกอบอาหารควรมีความรู้เรื่องโภชนาการและสัดส่วนสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับสุนัขในแต่ละช่วงวัย เช่น ปริมาณและสัดส่วนโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ ที่เหมาะสมในสุนัขแต่ละสายพันธุ์และแต่ละช่วงอายุ และควรมีการศึกษาเรื่องความเสี่ยงของอาหารต่อเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่สามารถปนเปื้อนกับอาหารได้ รวมถึงวิธีการดูแลและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งแบคทีเรียหลายชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารบาล์ฟนั้นสามารถติดต่อสู่สุนัขตัวอื่นและเจ้าของผู้เลี้ยงได้ อาทิ เชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา เชื้อแบคทีเรียอีโคไล เชื้อแบคทีเรียแคมไพโรแบคเตอร์ รวมถึงพยาธิอีกหลากหลายชนิดที่อาจทำให้เจ้าของมีอาการเจ็บป่วยได้ เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ หรือในรายที่เจ้าของร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจถึงแก่เสียชีวิตได้
แม้การให้อาหารแบบบาร์ฟจะกำลังฮิตในหมู่คนรักสุนัข แต่ก็มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบระหว่างอาหารบาล์ฟที่ให้ในสัตว์กับอาหารสำเร็จรูป พบว่าคุณประโยชน์ของอาหารทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกัน แต่อาหารชนิดบาล์ฟนั้นมีความเสี่ยงและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงมากกว่า ดังนั้น อาหารชนิดบาล์ฟนั้นสามารถให้ในสัตว์ได้แต่ควรมีการดูแลและควบคุมเรื่องคุณภาพ สารอาหาร สุขอนามัย จากผู้ประกอบอาหารที่เหมาะสม ควรมีการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารอย่างสม่ำเสมอรวมถึงการปนเปื้อนจากสารเคมีและเชื้อโรคต่าง ๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของสัตว์และผู้เลี้ยง
การให้อาหารบาร์ฟช่วงแรกอาจให้ในปริมาณน้อย ๆ แล้วสังเกตพฤติกรรมของน้องหมา ถ้าเขากินได้ดีจึงค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือผู้เลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้องหมากินอาหารตามใจปาก และควรพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เป็นระยะเพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
———————————————————————————
แหล่งอ้างอิง
น.สพ.ฐิติกร เอกศิริไตรรัตน์ (หมอซัน) สัตวแพทย์ประจำแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
THE 10th VPAT REGIONAL VETERINARY CONGRESS 2017, BARF is biologically appropriate raw food not bone and raw food , อ.สพ.ญ.ดร.ทรายแก้ว สัตยธรรม,ภาควิชาสรีรวิทยา ,คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย