น้องแมวที่บ้านของทุกคนเคยมีอาการแบบนี้กันไหม ถึงแม้ไม่ได้ทำอะไรแต่น้องก็ดูหายใจลำบากและหายใจแรงจนผิดปกติ หรือบางครั้งก็หายใจไม่สม่ำเสมอ อาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่พบได้ในแมวแน่ ๆ แต่น้องอาจเกิดความผิดปกติในร่างกายจนส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ออกมา แล้วสาเหตุจะเกิดจากอะไรได้บ้างลองมาทำความเข้าใจกัน
อาการหายใจแรงในแมว ถ้าสังเกตคือจะเป็นการหายใจที่ดูกระแทกหรือใช้แรงมาก บางครั้งแมวอาจอยู่ในท่านั่งหมอบตลอดเวลาเนื่องจากนอนหงายหรือตะแคงไม่ได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำหรือของเหลวภายในช่องอกหรือช่องท้องปริมาณมาก หรือการเป็นโรคหวัดแมวอย่างรุนแรงมาก ๆ ก็ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากได้ ซึ่งโรคหวัดมักจะเห็นอาการชัดเจนในเรื่องของน้ำมูกเขียวและขี้ตาเกรอะกรัง แมวอาจมีระดับออกซิเจนในเลือดน้อย และสีเยื่อเมือกจะเปลี่ยนสีเป็นสีซีดหรือสีม่วง
สาเหตุที่ทำให้แมวหายใจแรง เช่น
1.มีการขัดขวางภายในท่อลมของทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูกปริมาณมาก ปัญหาเนื้องอก เชื้อรา หรือก้อนเนื้อในโพรงจมูกและคอหอย เป็นต้น
2.เกิดการขัดขวางทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปัญหาหลอดลมตีบจากการแพ้ เราจะเห็นแมวแสดงอาการหายใจออกลำบากแบบเสียงดัง และแมวมักจะออกแรงในการหายใจออกมากกว่าปกติ
This radiograph shows the affected lungs of a cat with asthma. Photo by Dr. Jayne Kubat.
3.เกิดปัญหาที่ระบบของปอดและหลอดลมฝอย เช่น น้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจวายหรือปอดอักเสบ มักจะพบว่าแมวจะแสดงอาการหายใจลำบากทั้งขณะหายใจเข้าและออก หากมีสิ่งผิดปกติในช่องอกไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ก็จะทำให้แมวแสดงอาการหายใจลำบาก แต่ไม่เกิดเสียงดัง
4.การมีน้ำในช่องอก
5.การมีก๊าซในช่องอก ซึ่งเกิดจากการกัดทำลายหรือการแตกออกของถุงลม
การวินิจฉัย
- การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย (X-ray) เพื่อดูความผิดปกติภายในของปอด ช่องอก คอ และโพรงจมูก
- อัลตร้าซาวด์
- ตรวจเลือด เพื่อประเมินอาการของแมว
- การส่งตรวจน้ำในช่องอกหรือการเก็บเซลล์จากก้อนเนื้อไปส่งตรวจ จะทำก็ต่อเมื่อได้ตรวจวินิจฉัยยืนยันแล้วว่ามีของเหลวอยู่ในช่องอก
การรักษา
- ให้ดมออกซิเจน
- เจาะเอาน้ำหรือแก๊ซในช่องอกออก
- การรักษาทางยา ซึ่งการรักษาจะขึ้นกับอาการหรือสาเหตุของโรค
ทั้งนี้การดูแลรักษาแมวที่มีอาการหายใจแรงและหายใจลำบากนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ดังนั้นเจ้าของควรพาแมวมาพบสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อตรวจสุขภาพ อย่างเช่นตรวจโรคพยาธิหนอนหัวใจ ตรวจหาไร เห็บหมัด และคอยสังเกตพฤติกรรมแมวของเราเป็นประจำ หากพบความผิดปกติเรื่องการหายใจของแมวที่บ้านควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและป้องกันโรคที่อาจตามมาได้นะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม ทำความรู้จัก โรคเอดส์แมว โรคในแมวที่รักษาไม่หายขาดแต่ป้องกันได้
ข้อมูลจาก
สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอนุ่น) สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Long Beach Animal Hospital http://bit.ly/3TWFxLo
Veterinary Partner http://bit.ly/3TN9zRO
Vetlexicon http://bit.ly/3U8H5Cp
Allwell http://bit.ly/3TTuUZK