Menu Close

รู้จัก โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท ปัญหาอันตรายของสุนัขพันธุ์ใหญ่

ถึงแม้สุนัขพันธุ์ใหญ่จะดูมีร่างกายที่มั่นคงและแข็งแรง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพที่มาจากโครงสร้างทางร่างกายอันบึกบึนของน้อง ๆ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระดูกอย่างโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท ที่ปัญหานี้โดยส่วนมากมักจะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ทำให้น้องหมาที่เป็นมีอาการเดินก้าวสั้น ก้มคอลำบาก ขาหน้าอ่อนแรง ทำให้น้องหมาใช้ชีวิตได้ไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น และอาการอาจรุนแรงถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาตเลยทีเดียว หากน้องหมาเป็นโรคนี้เราจะช่วยรักษาเขาได้อย่างไรลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กันค่ะ

โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข (Wobbler) เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกส่วนคอกดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ทำให้สุนัขเกิดอาการปวดเกร็งคอ อ่อนแรง และมีอาการอัมพฤกษ์ คือภาวะที่แขนหรือขาอ่อนแรงแต่ยังพอใช้งานได้ โดยส่วนใหญ่สายพันธุ์สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคนี้จะเป็นน้องหมาไซส์ยักษ์ใหญ่อย่าง โดเบอร์แมน พินเชอร์ (Doberman Pinchers), ร็อตไวเลอร์ (RottWeilers), เกรทเดน (Great Danes), ไอริช วูล์ฟฮาวด์ (Irish Wolfhounds), บาสเซ็ต ฮาวด์ (Basset Hounds), ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) และ เยอรมันเชพเพิร์ด (German Shepherd) เป็นต้น แต่น้องหมาพันธุ์เล็กก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

อาการของสุนัขที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท

หากเจ้าของสังเกต สุนัขที่เป็นส่วนใหญ่จะเริ่มมีท่าเดินที่แปลกไปจากเดิม เช่น เดินก้าวสั้น ๆ เดินลากขา เกร็งคอ ลุกลำบาก ก้มคอลำบาก กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่เริ่มฝ่อลีบ หรือมีอาการขาหน้าอ่อนแรงมากกว่าขาหลัง แย่ที่สุดคือสุนัขจะเกิดอาการอัมพฤกษ์อัมพาตจนไม่สามารถเดินและไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ 

สาเหตุ

  1. สุนัขบางตัวอาจเกิดจากการได้รับโปรตีน แคลเซียม และพลังงานมากเกินไป เช่น เกรทเดน (Great Danes)
  2. การมีหมอนรองกระดูกคอที่ใหญ่กว่าปกติ เช่น ในสุนัขสายพันธุ์ โดเบอร์แมน พินเชอร์ (Doberman Pincher)
  3. ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอส่วนท้าย  

การวินิจฉัย

ในปัจจุบันใช้การเอ็กซเรย์ในการตรวจวินิจฉัยกระดูกบริเวณคอได้ รวมถึงมีเครื่องมือที่ทันสมัยอย่าง CT Scan และ MRI ที่สามารถนำมาวินิจฉัยโรคทำให้สามารถบอกตำแหน่งที่เกิดการกดบริเวณไขสันหลังเส้นประสาทได้ชัดเจนแทนการฉีดสีเข้าไขสันหลัง แต่ข้อเสียของ CT Scan และ MRI  คือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและสุนัขต้องได้รับการวางยาสลบ ดังนั้นจึงควรตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกแยะโรคอื่น ๆ ก่อนด้วยการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ดูโครงสร้างของกระดูกสันหลัง หรือการตรวจน้ำในไขสันหลังเพื่อตรวจหาเซลล์และการติดเชื้อ ก่อนจะทำ CT Scan หรือ MRI ต่อไป 

การรักษา 

การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัขขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไขสันหลังที่ถูกกดทับ ความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาที่เป็น โดยการรักษาจะแบ่งเป็นการรักษาทางยา การผ่าตัด ร่วมกับการกายภาพบำบัด 

ในสุนัขที่รักษาด้วยการผ่าตัดนั้นจะมีโอกาสที่อาการจะดีขึ้นได้มากที่สุดและการกลับมาเป็นซ้ำอีกน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว โดยวิธีการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อลดการกดไขสันหลังและนำหมอนรองกระดูกคอออก ร่วมกับการใส่หมอนรองกระดูกคอเทียมเข้าไปแทนที่หรือร่วมกับการใส่อุปกรณ์ยึดกระดูกคอที่มีปัญหา

ส่วนการรักษาทางยาร่วมกับการกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัดร่วมกับการกายภาพบำบัดนั้น ก็เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมความแข็งแรง เพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อ รวมทั้งลดการปวดและการอักเสบที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัดสามารถช่วยได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และในบางกรณีเท่านั้น วิธีนี้เหมาะสำหรับสุนัขที่อาการไม่รุนแรง โดยการรักษาจะเป็นการใช้ยาและการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย 

การดูแล

ในสุนัขที่ไม่สามารถเดินได้ เจ้าของจะต้องให้สุนัขนอนในที่นอนนุ่ม ๆ และเปลี่ยนท่านอนทุก 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ และอาจจะต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อไม่ให้ปัสสาวะคั่งทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือมีปัญหาโรคไตตามมา

นอกจากนี้ถ้าพาสุนัขไปเดินเล่นข้างนอกควรใส่สายรัดอกแทนการใส่ปลอกคอ เนื่องจากปลอกคอจะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อไขสันหลังส่วนคอ และงดการออกกำลังกายหนัก ๆ เป็นเวลาประมาณ 2-3 เดือน รวมถึงการควบคุมน้ำหนักและการลดความอ้วนก็เป็นปัจจัยในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.ปิโยรส โพธิพงศธร (หมอหมวย) สัตวแพทย์แผนกระบบประสาท, แผนกอายุรกรรม, แผนกศัลยกรรม ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Veterinary surgery: Small animal

บ้านและสวน. โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข (Wobbler Syndrome). https://bit.ly/3b5NY6S