หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของสุนัขและแมว แต่คนที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมวส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้ว่าน้อง ๆ ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้จนอาจละเลยอาการบางอย่างที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วการจะดูว่าน้องเป็นโรคหัวใจหรือเปล่านั้นถ้าดูอาการเบื้องต้นด้วยตาเปล่าอาจไม่รู้แน่ชัด เพราะโรคหัวใจมีทั้งแบบที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ทำให้เจ้าของหลายคนอาจสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ? เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจในสุนัขและแมวก่อนที่จะสายเกินแก้กันค่ะ
ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเป็นโรคหัวใจในสุนัขและแมว
อายุ แบ่งเป็นโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งมักพบในสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และโรคหัวใจที่เป็นภายหลังมักพบในสุนัขที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
สายพันธุ์ สุนัขพันธุ์ใหญ่มักพบว่า มีปัญหาเป็นโรคหัวใจจากการขยายขนาดของห้องหัวใจ ส่วนสุนัขพันธุ์เล็กมักพบปัญหาของลิ้นหัวใจรั่วหรือปิดไม่สนิท ในแมวมักพบภาวะที่หัวใจหนาตัวมากขึ้นกว่าปกติ
เพศ พบว่าไม่ว่าจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมียก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ไม่ต่างกัน
อาการโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในสุนัขและแมวจะมีความแตกต่างกัน โดยส่วนมากแมวที่เป็นโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการป่วยให้เราเห็น แต่อาจจะแสดงภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น เมื่อมีความเครียดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นหรือการไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย แมวที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวมักแสดงอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วขึ้น และไม่ค่อยมีอาการไอ ซึ่งแตกต่างจากสุนัข นอกจากนี้แมวบางตัวอาจแสดงอาการกระวนกระวายหรือซึมกว่าปกติ รวมทั้งอาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
อาการสำคัญอีกอย่างที่อาจเจอได้ในแมวที่เป็นโรคหัวใจคือ การที่ขาหลังเกิดอัมพาต ซึ่งเจ้าของมักเข้าใจผิดว่าอัมพาตเกิดจากการได้รับบาดเจ็บทำให้ใช้งาน 2 ขาหลังไม่ได้ รวมถึงอาจพบลักษณะท้องมาน ช่องท้องขยายใหญ่ เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน แต่โอกาสพบจะน้อยกว่าในสุนัข
หากใครเช็คอาการเบื้องต้นแล้วไม่แน่ใจว่า ลูก ๆ หมาแมวที่บ้านเราเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ก็ควรพามาพบสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ให้ทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยมี แนวทางการวินิจฉัยโรคหัวใจ ดังนี้
1.การตรวจร่างกายทั่วไป
ดูลักษณะการหายใจว่า มีภาวะหายใจลำบากหรือเปล่า ดูการอ้าปากหายใจและสีของเยื่อเมือก เพราะหากมีภาวะขาดออกซิเจนเยื่อเมือกก็จะซีดหรือกลายเป็นสีม่วง
2.การฟังเสียงการเต้นของหัวใจ
บางครั้งพบว่าการเต้นของหัวใจอาจไม่เป็นจังหวะ เช่น เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เสียงเบากว่าปกติ เป็นต้น
3.ฟังเสียงการหายใจ
เช่น เสียงปอดที่มีลักษณะดังกว่าปกติหรือเสียงเหมือนมีน้ำคั่งหรือน้ำท่วมปอด ฯลฯ
4.การตรวจลักษณะการเต้นของชีพจร
ดูว่ามีความสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่สัมพันธ์กันหรือชีพจรเบาหรือแรงกว่าปกติ ก็แสดงถึงลักษณะความผิดปกติได้
5.การเอ็กซเรย์
เป็นการช่วยดูว่าภายในช่องอกนั้นมีความผิดปกติที่ส่วนใดบ้าง เช่น หลอดลม ขนาดของหัวใจ และลักษณะเนื้อปอด ฯลฯ
6.การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG หรือ Electrocardiogram)
เป็นการตรวจดูการนำไฟฟ้าภายในหัวใจว่ามีลักษณะการเต้นผิดจังหวะหรือไม่ หรือดูอัตราการเต้นว่าเร็วหรือช้ากว่าปกติ
7.การอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiography)
เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านผนังช่องอก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นการวินิจฉัยที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถบอกความผิดปกติด้านกายภาพของหัวใจได้อย่างแม่นยำ และยังช่วยประเมินความรุนแรงของความผิดปกติในด้านการทำงานของหัวใจได้อย่างดี เช่น การตรวจดูลักษณะของลิ้นหัวใจ การตีบของหลอดเลือดต่าง ๆ ที่หัวใจ การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การขยายขนาดของห้องหัวใจ และประสิทธิภาพในการบีบและคลายตัวของหัวใจ เป็นต้น
8.การตรวจอื่น ๆ
เช่น การตรวจเลือด การตรวจวัดความดันเลือด การตรวจพยาธิหนอนหัวใจ เป็นต้น
การพาสุนัขและแมวมาตรวจสุขภาพหรือตรวจร่างกายประจำปีเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ตรวจพบปัญหาสุขภาพหรือโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นของน้องหมาน้องแมวได้นะคะ ดังนั้นเจ้าของควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ คอยสังเกตอาการน้องว่ามีความเสี่ยงไหม เพื่อที่หากน้องเป็นโรคหัวใจจะได้มารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้น้องอยู่กับเราได้อีกนานค่ะ
อ่านบทความอื่น ๆ ระวัง! โรคหัวใจ โรคอันตรายที่สุนัขก็เป็นได้
———————————————————————————–
แหล่งอ้างอิง
สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม และแผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Vet Basket. ทาสแมวต้องรู้… เจ้านายเราก็เป็นโรคหัวใจได้นะ. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2564 จาก Vet BasKet: https://bit.ly/3AipheF