Menu Close

สุนัขและแมวถูกไฟดูดทำอย่างไรดี? อันตรายในบ้านที่ควรระวัง

ธรรมชาติของน้องหมาน้องแมวมักจะมีนิสัยซุกซนและอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะมีข่าวการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตจากความซนของน้อง ๆ ออกมามากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือข่าวที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงชอบไปกัดไปงับสายไฟจนถูกไฟดูดหรือไฟช็อต บางตัวถ้าโชคดีก็บาดเจ็บเพียงแค่เกิดรอยไหม้ตามผิวหนังหรือเป็นแผลในปาก แต่หากน้อง ๆ ไปเจอกับไฟฟ้าแรงสูงเข้าโดยที่เจ้าของไม่ทันระวังอาจเป็นภัยถึงแก่ชีวิตได้เลย มาดูกันว่าถ้าสัตว์เลี้ยงของเราถูกไฟดูดเราจะปฏิบัติเบื้องต้นอย่างไรเพื่อช่วยพวกเขาได้บ้าง

อาการที่พบเมื่อสุนัขและแมวถูกไฟดูด

เมื่อเจ้าของพบว่าสุนัขหรือแมวถูกไฟดูดควรประเมินอาการของสัตว์เลี้ยงก่อนเป็นอับดับแรก โดยดูว่าผิวหนังของสัตว์ที่สัมผัสกับกระแสไฟเป็นรอยไหม้หรือเปล่า ซึ่งรอยไหม้อาจเป็นได้ตั้งแต่ระดับผิวเผิน ผิวหนังมีภาวะเลือดคั่ง หรืออาจไหม้ไปจนถึงชั้นหนังแท้ และควรตรวจดูบริเวณปาก ทั้งริมฝีปาก เพดานปาก ลิ้น เหงือก ว่ามีแผลพุพองหรือมีกลิ่นปากหรือไม่ เพราะสัตว์ที่ชอบกัดหรืองับสายไฟอาจถูกไฟดูดบริเวณนี้ได้โดยที่เจ้าของไม่ทันสังเกตเห็น และน้อง ๆ จะเริ่มน้ำหนักลดลง ไม่ยอมกินอาการเพราะมีแผลในปาก

ในเคสที่อาการรุนแรง สุนัขและแมวอาจตัวเกร็ง ชัก ช็อคจนหมดสติ หรืออาจเกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  1. ภาวะหายใจลำบาก เป็นอาการที่พบได้บ่อย สุนัจและแมวจะมีอาการหายใจเร็ว นอนไม่ได้ ไอ หากอาการหนักอาจเกิดภาวะหยุดหายใจได้  
  2. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจหยุดเต้น ภาวะนี้ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของไฟฟ้าที่สัตว์ได้รับ ถ้าได้รับกระแสไฟฟ้าโดยตรงจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดการสูญเสียการรับรู้ และอาจเสียชีวิตได้ในทันที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. อย่าสัมผัสตัวสัตว์จนกว่าจะปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า
  2. ตัดไฟให้เร็วที่สุด เช่น ถอดปลั๊กออกจากเต้ารับหรือสับคัทเอาท์จ่ายไฟ เพื่อไม่ให้ผู้ช่วยเหลือถูกไฟดูดไปด้วย
  3. เช็คการหายใจ ตรวจสอบว่าสัตว์ยังหายใจอยู่หรือไม่ หากสัตว์เกิดภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ควรทำการ CPR และรีบพามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด 

การทำ CPR

เริ่มจากเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากช่องปากสัตว์ที่ถูกไฟดูดให้หมด หลังจากนั้นเปิดปากสัตว์ให้กว้าง ดึงลิ้นออกมา ใช้นิ้วกวาดให้ทั่วช่องปาก รวบปากและคางของสัตว์แล้วเป่าลมเข้าทางจมูกประมาณ 5 – 6 ครั้ง ถ้ายังไม่สามารถหายใจได้เองให้ทำต่อไป (elec-megaboy, oknation)

อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้มือทั้งสองข้างกดเหนือหัวใจ โดยวางมือซ้อนทับกันแล้ววางไว้เหนือตำแหน่งหัวใจของสัตว์เลี้ยง ไหล่ควรตั้งฉากกับมือและข้อศอกเหยียดตรง โน้มตัวลงไปให้แขนตั้งฉากขณะที่ทำการกดหน้าอก สำหรับสัตว์ขนาดกลางให้ทำการกดหัวใจของสัตว์ลงเบา ๆ ประมาณหนึ่งนิ้ว ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่ให้กดแรงขึ้น 

การรักษาโดยสัตวแพทย์

เมื่อรีบพาสุนัขและแมวมาพบสัตวแพทย์แล้ว สัตวแพทย์จะทำการตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจ เอ็กซเรย์ รวมถึงตรวจร่างกายภายนอกของสัตว์ว่ามีบาดแผลหรือรอยไหม้รุนแรงหรือเปล่า จากนั้นจะเริ่มทำแผลให้ หากสัตว์มีแผลที่ปากจนกินอาหารเองไม่ได้ สัตวแพทย์จะให้อาหารเหลวโดยสอดท่อให้ทางจมูกหรือหลอดอาหาร 

ในกรณีที่สัตว์มีภาวะหายใจลำบาก สัตวแพทย์จะทำการใส่หน้ากากออกซิเจน จากนั้นจะสอดท่อเข้าไปที่จมูก และทำการรักษาต่อไป

แหล่งอ้างอิง 

สพ.ญ.ศศิร์พัช กิตติสารธรรมา (หมอมุก) โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Mann FA.,2015. Electrical and Lighting Injuries, Small Animal Critical Care Medicine (2nd edition) (Editor:Silverstein and Hopper) p.799-802

VPN, https://bit.ly/3NWuG18 

OK Nation, จะทำเช่นไร เมื่อไฟดูดแมว, https://bit.ly/3Pf84Ki 

บ้านและสวน, การปั๊มหัวใจ หรือ CPR สัตว์เลี้ยง , https://www.baanlaesuan.com/215373/pets/health/cpr-pets