Menu Close

สุนัขเป็นประจำเดือน (เป็นสัด) ต้องดูแลอย่างไร?

การเลี้ยงคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คน จริงไหมคะ เพราะทาสหมาอย่างเรา ๆ ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในแต่ละเรื่องเพื่อดูแลน้องหมาให้ดีที่สุดอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงสุนัขเพศเมียที่น้องจะต้องเป็นประจำเดือน (เป็นสัด) หรือที่หลายคนเคยได้ยินว่า อาการฮีท ที่สุนัขจะมีของเหลวสีแดงไหลออกมาจากอวัยวะเพศคล้ายกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง หากน้องหมามีอาการนี้ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยว่าน้องหมาของเราเริ่มโตเป็นสาวแล้ว หากน้องเป็นสัดแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ดีแน่นอนว่าเสี่ยงต่อการท้องแน่นอน แล้วเจ้าของอย่างเราจะต้องดูแลน้องหมาอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหานี้ มาดูกัน

การเป็นประจำเดือนของสุนัขแต่ละครั้งจะมีของเหลวสีแดงไหลออกมาจากอวัยวะเพศของน้องออกมาทีละน้อย ๆ แต่จะไหลอยู่เรื่อย ๆ  ทำให้หลายคนอาจจะเห็นน้องหมาบางตัวใส่ผ้าอ้อมเอาไว้ นั่นก็เพราะเพื่อป้องกันไม่ให้เลอะเทอะนั่นเองค่ะ และถ้าถามว่าน้องหมาที่มีประจำเดือนจะมีอาการเหมือนกับตอนผู้หญิงเป็นประจำเดือนไหม ความจริงก็แอบคล้าย ๆ กันอยู่ เพราะน้องหมาที่มีประจำเดือนจะอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย เรียกได้ว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดาใจไม่ถูกกันเลย

อาการสุนัขที่เป็นสัด

1.มีของเหลวสีแดงออกมาจากอวัยวะเพศ

2.อวัยวะเพศบวม

3.ปัสสาวะบ่อย 

4.อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย ขี้หงุดหงิด

5.สนใจสุนัขเพศผู้มากขึ้น

6.เบื่ออาหาร

7.สุนัขบางตัวอาจจะนิ่งซึม ส่วนบางตัวจะกระตือรือร้นมากขึ้น

ช่วงเวลาการเป็นสัดของสุนัข

สุนัขจะมีเลือดหรือเป็นสัดครั้งแรกในช่วงอายุเฉลี่ย 7-12 เดือน เป็นสัดเร็วสุดอายุประมาณ 6 เดือน และช้าที่สุดอายุประมาณ 24 เดือน ซึ่งแต่ละปีน้องหมาจะเป็นสัดเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง ระยะห่างของวงรอบแต่ละครั้งประมาณ  5-7 เดือน และสุนัขพันธุ์เล็กมักจะเป็นสัดเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยสุนัขสามารถเป็นสัดได้ตลอดชีวิตไม่เหมือนคนที่มีระยะหมดประจำเดือน

วงจรการเป็นสัดของน้องหมาจะมี 4 ระยะ ดังนี้

1.โปรเอสตรัส (Proestrous) ระยะก่อนผสมพันธุ์

เจ้าของจะสังเกตเห็นว่าอวัยวะเพศของน้องหมาเพศเมียจะบวมเต่ง แดง มักจะมีเลือดไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ระยะนี้น้องหมาเพศผู้จะแสดงท่าทีสนใจน้องหมาเพศเมีย แต่น้องหมาเพศเมียจะยังไม่ยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์

2.เอสตรัส (Estrous) ระยะผสมพันธุ์

เป็นระยะที่ตัวเมียจะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ จะเกิดการตกไข่และปฏิสนธิกับอสุจิเป็นตัวอ่อน (ถ้ามีการผสมพันธุ์) ในช่วงนี้อวัยวะเพศของน้องหมาเพศเมียจะยังบวมอยู่แต่จะเริ่มเหี่ยวลงเมื่อเทียบกับระยะโปรเอสตรัส อาจพบว่ามีเลือดออกจากอวัยวะเพศอยู่ได้บ้างแต่มักจะมีสีจางกว่าระยะแรก

3.ไดเอสตรัส (Diestrous) ระยะหลังผสมพันธุ์

เมื่อเข้าสู่ระยะนี้น้องหมาจะไม่ยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์แล้ว ช่วงนี้จะเป็นระยะที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูง ฮอร์โมนนี้จะช่วยทำให้มดลูกของน้องหมาเหมาะสมสำหรับการตั้งท้อง ถ้าน้องหมาผสมพันธุ์มาก็จะตั้งท้อง โดยใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 60 วัน ส่วนในน้องหมาที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ระยะนี้จะกินเวลาไม่แน่นอน โดยมากจะอยู่ที่ประมาณ 60-80 วัน

4.แอนเอสตรัส (Anestrous) ระยะพักของวงจรการเป็นสัด

เป็นช่วงที่สืบเนื่องต่อมาจากระยะไดเอสตรัส โดยจะเป็นระยะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์ในน้องหมาเพศเมีย อวัยวะเพศจะมีขนาดปกติ ไม่มีอาการบวมแดง

วิธีดูแลหากสุนัขมีประจำเดือน (เป็นสัด)

1.ดูแลเรื่องความสะอาดอยู่เสมอ

ช่วงที่น้องหมาเป็นสัดหากเราปล่อยไว้ไม่จัดการอะไรเลยอาจทำให้เลือดจากตัวน้องหมาเลอะตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ เราจึงอาจซื้อผ้าอ้อมหรือผ้าอนามัยสำหรับสุนัขมาใส่ให้น้องและคอยเปลี่ยนให้น้องอยู่เสมอ ไม่ควรใส่ซ้ำข้ามวัน และตรงส่วนอวัยเพศของน้องหมาที่บอบบางก็ควรทำความสะอาดตามซอกต่าง ๆ ให้สะอาดหมดจด จะได้ไม่เกิดการหมักหมมของเลือดจนมีกลิ่นได้

2.คอยอยู่ใกล้ ๆ สุนัขเพื่อเฝ้าระวัง

ถ้าเรายังไม่อยากให้สุนัขท้อง สิ่งสำคัญคือต้องคอยดูแลและคอยเฝ้าน้องหมาเอาไว้เพื่อไม่ให้สุนัขตัวผู้มาเข้าใกล้ (หรือให้น้องหมาของเราวิ่งเข้าใส่ตัวผู้) ดังนั้นถ้าใครอยากพาน้องออกไปเดินเล่นข้างนอกก็ควรใช้สายจูงเพื่อป้องกันน้องวิ่งจนเราตามไม่ทัน และถ้าเป็นไปได้ควรกักบริเวณน้องหมาเอาไว้ เพราะช่วงเป็นสัดสุนัขเพศผู้จะได้กลิ่นสุนัขเพศเมียที่เป็นสัดและต้องการจะผสมพันธุ์ ซึ่งการผสมพันธุ์ในช่วงนี้มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้สุนัขตั้งท้องได้

3.สังเกตและเลือกวิธีดูแลสุนัขอย่างถูกวิธี

สุนัขแต่ละตัวจะมีอาการฮีทที่แตกต่างกัน บางตัวอาจจะรู้สึกเหนื่อยทั้งวันแม้ไม่ได้ทำอะไร แต่บางตัวก็อะเลิร์ทจนออกนอกหน้า เพราะฉะนั้นเจ้าของอย่างเราจึงต้องคอยสังเกตว่าเวลาน้องหมาของเราเป็นสัดเขามีอาการอย่างไร หากสุนัขรู้สึกอ่อนแรงก็ให้เขาได้พัก แต่ถ้าน้องอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้เลย กระตือรือร้นตลอดเวลา ก็อาจพาเขาไปวิ่งออกกำลังกายได้ (อย่าลืมใส่สายจูงด้วยนะ) 

4.พาไป (หากไม่ต้องการให้สุนัขท้อง) อ่านบทความเกี่ยวกับการ ทำหมันในสุนัขดีอย่างไร

สำหรับคนที่ไม่ต้องการให้สุนัขมีลูก การทำหมันเป็นอีกวิธีที่จะช่วยจัดการปัญหานี้ได้ การทำหมันให้สุนัขไม่ใช่แค่เป็นการควบคุมจำนวนเลี้ยงเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีอีกมากที่เป็นประโยชน์ต่อสุนัข เช่น ลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกอักเสบ ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ในช่วงที่สุนัขเป็นสัด และหากทำหมันก่อนเป็นสัดครั้งแรกสามารถลดการเกิดเนื้องอกที่เต้านมได้ถึง 95 % !

6.ปรึกษาสัตวแพทย์

ถึงแม้การเป็นสัดจะไม่ใช่อาการป่วยที่จำเป็นต้องไปหาสัตวแพทย์ แต่การปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวิธีการดูแลที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดนะคะ

การเป็นสัดของสุนัขไม่ใช่เรื่องน่ากังวลหากเราดูแลเขาได้อย่างถูกต้องและคอยใส่ใจสุนัขอยู่เสมอ คอยสังเกตพฤติกรรมน้องหมาที่บ้านเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเป็นประจำเดือนของน้องหมากันนะคะ

แหล่งอ้างอิง

สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ (หมอติ๊ก) ประจำแผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม และแผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

Tractive. In Heat? Here's Everything You Need To Know. https://tractive.com/blog/en/good-to-know/dog-in-heat

Figo. How to care for your dog in heat. https://figopetinsurance.com/blog/how-care-your-dog-heat

Dogilike. ดูแลอย่างไรในช่วงที่น้องหมา ‘เป็นสัด'. https://www.dogilike.com/content/caring/1482/